เด็กนักเรียนในจังหวัดบึงกาฬ ตื่นเต้นเห็น "พระอาทิตย์ทรงกลด" บนท้องฟ้า แห่บันทึกภาพเก็บความงามตามธรรมชาติที่แปลกตา
เด็กนักเรียนชั้น ป.6 กลุ่มหนึ่งของโรงเรียนบ้านต้องโคกกะแซ ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ที่กำลังเล่นฟุตบอลอยู่ที่กลางสนาม ต่างตื่นเต้นที่ได้พบเห็นปรากฏการณ์ "ดวงอาทิตย์ทรงกลด" บนท้องฟ้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา จึงพากันถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอเก็บไว้
ขณะที่นายยุทธศาสตร์ ฮาดดา ครูระดับชำนาญการของโรงเรียน อธิบายความรู้เพิ่มเติมให้เด็กๆ ทราบว่า ถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ในตอนกลางคืน จะเรียกว่า "พระจันทร์ทรงกลด"
สำหรับปรากฏการณ์ "พระอาทิตย์ทรงกลด" เกิดขึ้นจากบรรยากาศของโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นล่างสุด และเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก มีอากาศเย็นจัดตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จนทำให้ละอองน้ำในอากาศ ณ เวลานั้นๆ แข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งอนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาล ลอยอยู่บนท้องฟ้า
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งได้อย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเหและการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดเป็นแถบสีรุ้ง ล้อมรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ คล้ายการเกิดรุ้งกินน้ำหลังฝนตกขึ้น
ทั้งนี้ "พระอาทิตย์ทรงกลด" จะพบได้มาก ในปีที่มีฝนหลงฤดู หรือในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งมีความชื้นจากฝนมาก โดยเวลาที่เหมาะสมได้แก่ ช่วงก่อน 10 โมงเช้า จนถึงเวลาประมาณเที่ยงๆ