สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เผยสถิติย้อนหลังปริมาณน้ำฝนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงที่สุดในรอบ 26 ปี
สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมรายเดือน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 - 2560 พบว่า
ปริมาณน้ำฝนในเดือนพฤษภาคม ปี 2560 นั้น ถือว่ามากที่สุดในรอบ 26 ปี คือ มากถึง 504 มิลลิเมตร มากกว่าเดือนพฤษภาคม ปี 2537 ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนรวม 487 มิลลิเมตร
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลด้วยว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาเพียง 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคมนั้น สูงพอๆ กับในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัยทั้งเดือน โดยมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 387 มิลลิเมตร (25-31 พ.ค. 60) ส่วนในเดือนตุลาคม 2554 นั้น ทั้งเดือนมีปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 388 มิลลิเมตร
ขณะที่ นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การระบายน้ำของกรุงเทพฯ ทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ว่า เกิดจากปัญหาขยะในแม่น้ำ คูคลอง และ ขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ ซึ่งการดำเนินการจัดเก็บขยะในแม่น้ำ คูคลองต่างๆ ให้หมดนั้นทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมากในการจัดเก็บ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงเทพฯ สามารถเก็บขยะในแม่น้ำ คูคลองรวมถึงหน้าสถานีสูบน้ำได้ประมาณวันละ 10 ตัน และในวันที่ฝนตกขยะจะมีมากขึ้นถึงประมาณวันละ 20 ถือเป็นปริมาณที่เยอะมาก เมื่อเทียบกับการจัดเก็บขยะบนบก
ทางกรงเทพฯ จึงอยากขอความร่วมมือให้ทุกคน ร่วมกันไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ คูคลอง เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ ป้องกันการอุดตันในท่อระบายน้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ด้วย