วิป สนช.เผย เซตซีโร่ กกต.ทั้งคณะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม วันที่ 9 มิถุนายนนี้ ขณะที่คณะกรรมการ กกต. เตรียมหารือคณะที่ปรึกษากฏหมาย ประเด็นเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งคณะ ว่า ขัดเจตนารมย์รัฐธรรมนูญหรือไม่

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพูดคุยต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มีมติให้มีการเซตซีโร่ โดยเบื้องต้นจะศึกษาเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่ามีเนื้อหาสาระส่วนใดที่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร และจะได้นำไปขอความเห็นจากที่ประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมายที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เบื้องต้นนัดประชุมไว้ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ และหลังที่ประชุมสนช.มีมติวันที่ 9 มิถุนายนแล้ว ก็จะมีการประชุมร่วมระหว่างกกต.กับคณะที่ปรึกษากฎหมายอีกครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมประเด็นที่กกต.จะมีความเห็นแย้งเมื่อมีการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้มาให้กกต.พิจารณา ซึ่งกกต.ก็จะได้ทำความเห็นกลับไปยังสนช.ทันตามกรอบเวลา นอกจากนี้ที่ประชุมก็ได้มีการหารือถึงกรอบเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ หากไปถึงจุดต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ประธานกกต. ก็จะเป็นตัวแทนไปร่วมนั่งในคณะกรรมการด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักกฎหมาย ของสำนักงานกกต.เสนอให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนในคำร้องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 9 คนที่ถือครองหุ้น และมีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง โดยสำนักงานกกต.จะไปยกร่างคำสั่ง ก่อนที่จะเสนอให้ประธานกกต.ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และหากเห็นว่ามีมูลตามที่มีการกล่าวหา ก็จะมีการเชิญผู้ถูกร้องทั้ง 9 คนมาชี้แจง ก่อนที่จะมีมติและมีความเห็นเสนอต่อ กกต.พิจารณา

"สมชัย" จี้พูดให้ชัดปมเซตซีโร่ กกต. "ปลา 2 น้ำ" หรือ "ก.ม.สองมาตรฐาน"

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาระบุถึงสาเหตุการเซตซีโร่ กกต. ชุดนี้ "เป็นปลาสองน้ำ" ว่า ทุกที่ล้วนมีปลาสองน้ำ ตรรกะปลาสองน้ำ หากถามว่า ภาวะปลาสองน้ำ คือ ภาวะที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระ เช่น กกต.เพียงองค์กรเดียวหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่" เพราะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะครบวาระ 5 คน ใน 9 คน ซึ่ง 5 คนใหม่ที่จะมา ก็มาภายใต้คุณสมบัติใหม่ นี่คือ ปลาสองน้ำ ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หากยึดตามคุณสมบัติใหม่ จะมี ป.ป.ช.ปัจจุบันพ้น 8 ใน 9 คน จึงต้องสรรหามาใหม่ 8 คน เหลือคนเดิมเพียง 1 คน นี่คือปลาสองน้ำ ทุกองค์กรอิสระ วาระการดำรงตำแหน่งเป็นวาระเฉพาะตัว การเข้าและออกจึงไม่จำเป็นต้องพร้อมกัน นี่คือปลาสองน้ำ ดังนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงมิใช่เรื่องของมาด้วยคุณสมบัติ หรือ วาระการดำรงตำแหน่ง แต่อยู่ที่ความสามารถในการทำงานเป็นทีม กล้าตัดสินใจ และดำรงความเป็นอิสระ มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักการ มิใช่คำนึงถึงตัวบุคคล ดังนั้นควรพูดให้ตรงว่า "เป็นปลาสองน้ำ หรือ ออกกฎหมายสองมาตรฐาน"

วิปสนช.ชี้เซตซีโร่องค์กรอิสระขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม 9 มิ.ย.นี้

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช. กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 9 มิถุนายนนี้ มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวาระแรก และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวาระ 2 และ3 ตามที่ คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว ส่วนจะมีมติเซตซีโร่ กกต.ทั้งหมดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมสนช. แต่ประเด็นเรื่องเซตซีโร่เป็นเรี่องที่มีสมาชิกสนช.ติดใจ ขอแปรญัตติมากที่สุด 10 คน

กกต.เตรียมถกคณะที่ปรึกษากฎหมาย ปมถูกเซ็ตซีโร่ทั้งคณะ