พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกหูเคลียร์ใจกับ พลเอกเตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา หลังสื่อเสนอเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธสงคราม เจ้าตัว จี้ขอโทษอย่างเป็นทางการ ขณะที่ตำรวจพบ หลักฐานวงจรปิดรถผู้ต้องหาชาวกัมพูชา เอี่ยว พันจ่าอากาศเอก ค้าอาวุธสงคราม
พันตำรวจเอกดเรศ กัลยา หัวหน้าพนักงานสอบสวน เปิดเผยความคืบหน้า คดีที่พันจ่าอากาศเอกภคิน เดชพงษ์ และ พวกรวม 3 คน ขนอาวุธสงครามเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ยังคงสอบปากคำ ผู้ต้องหาเป็นวันที่ 3 พร้อมเร่งขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่จังหวัดตราด และ พื้นที่อื่นๆ และแม้ว่าพันจ่าอากาศเอกภคิน เดชพงษ์ จะยังไม่ซัดทอด ว่า ร้อยตำรวจโทพิเสริด เรียง ชาวกัมพูชา และ นายจักรพงษ์ หรือ คิง ไกลเรียง เป็นผู้ร่วมขบวนการ แต่ในทางสืบสวนตำรวจยังไม่เชื่อว่า พันจ่าอากาศเอก ภคิน จะทำเพียงคนเดียวน่าจะทำมากกว่า 1 คน หรืออาจมากกว่า 3 คน
อีกทั้งตำรวจยังมีหลักฐานที่สามารถมัดตัวผู้ต้องหาชาวกัมพูชาได้ คือ กล้องวงจรปิดของโรงแรมทวีศักดิ์กิตติยา ปรากฏภาพรถเรนจ์โรเวอร์ คันที่ ร้อยตำรวจโทพิเสริด ขับเข้าไปในช่วงเวลาก่อนเกิดอุบัติเหตุจริง และยังมีภาพขณะเกิดเหตุที่บ้านคลองสน ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด และ ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กไว้ด้วย ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยานั้น ยังต้องรอผลการพิสูจน์ต่อไป ขณะที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ยังถูกฝากขังที่ศาลจังหวัดตราด
โดยช่วงเย็นวานนี้ ( 7 มิ.ย.) พลตำรวจโทจิตติ รอดบางยาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมคณะ เข้าร่วมประชุม ติดตามความคืบหน้า การสอบสวน คดีค้าอาวุธสงคราม ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราดด้วย
สตม.พบ ข้อมูล ผตห.กัมพูชา เข้าออกไทยมากถึง 231 ครั้ง
ขณะที่ พลตำรวจโทณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยถึง ตรวจสอบการเดินทางเข้า- ออก ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่พบการเดินทางเข้าออกของ พันจ่าอากาศเอกภคิน ส่วนนายจักรพงษ์ พบเดินทางเข้า-ออก 11 และ ร้อยตำรวจโทพิเสริด เรียง เข้า-ออก มากถึง 231 ครั้ง แต่ทุกครั้งเข้าและออกถูกต้องตามขั้นตอน ขณะที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งทหาร หน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธินที่182 ยังคงเข้มงวดตรวจค้นรถ เข้าออกบริเวณชายแดน ทั้งขาออกไปประเทศกัมพูชา และ ขาเข้ามายังประเทศไทย
" พล.อ.เตีย บัน" จี้สื่อไทย ขอโทษเป็นทางการ เสนอข้อมูลพาดพิง
ขณะเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สำนักวิเทศสัมพันธ์กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ออกหนังสือถึงสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เรียกร้องให้สื่อมวลชนไทยบางสำนัก แสดงความรับผิดชอบและขอโทษอย่างเป็นทางการในการนำเสนอข่าวพาดพิง พลเอกเตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ พลเอกเตียบัน เรียบร้อยแล้ว มีความเข้าใจดีต่อกัน พลเอกเตีย บัน ไม่ได้ติดใจเอาความอะไร เพียงแต่อยากให้มีการแสดงความรับผิดชอบ และขอโทษอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลกัมพูชา พร้อมกันนี้ พลเอกประวิตร บอกว่า อยากให้สื่อ ระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่พาดพิงถึงบุคคลระดับสูงของกัมพูชา หากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ หรือ สอบสวนอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด
ผกก.สตม.ตราด เตรียมเอาผิดสื่อ อ้างให้ข้อมูลพาดพิงทางการกัมพูชา
ขณะเดียวกัน พันตำรวจเอกพัชญ์กฤชโชค เกษมมณี ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตราด กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่อ้างว่า รถแลนด์ โรเวอร์ ที่พบ เกี่ยวข้องกับถึงบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน และ ใช้ชื่อตนเองเป็นคนให้ข่าวว่า เรื่องดังกล่าว ทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อน ถูกทางราชการสอบสวน ตนเองจึงไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.แหลมงอบ เพื่อเอาผิดสื่อที่นำข่าวเกินจริง และที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าว โทรศัพท์มา ขอภาพ และรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ และ คนร้าย แต่ตนเองไม่ได้ให้ข้อมูลไป และ ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงบุคคลที่สามแต่อย่างใด จึงต้องการให้สื่อมวลชนลงข่าวแก้ไขให้ถูกต้องกับความเป็นจริงด้วย และ ให้ทำเรื่องมายังชุดประสานงานชายแดน เพื่อนำรายละเอียดการแก้ข่าว และหนังสือขอโทษ ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง เพื่อส่งยังประเทศกัมพูชา คลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
กระเหรี่ยงเคเอ็นดีโอ ยืนยัน ไม่จำเป็นต้องซื้อขายอาวุธสงครามกับไทยอีก
ส่วนที่จังหวัดตาก พลตรีเนอดา เมียะ บุตรชาย นายพลโบ เมียะ ผู้บัญชาการกองกำลังกะเหรี่ยง เคเอ็นดีโอ หรือ กลุ่มพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีที่ผู้ต้องหา ถูกจับอาวุธสงครามที่จังหวัดตราดและ เปิดเผยว่า จะส่งอาวุธสงครามขายให้กะเหรี่ยงในแถบจังหวัดตาก ว่า กลุ่มกะเหรี่ยงอยู่ระหว่าง เจรจาเพื่อสันติภาพหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมา จึงไม่มีความจำเป็นในการซื้ออาวุธสงครามมาจากประเทศไทย แต่ยอมรับ ว่าการซื้อขายอาวุธตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา มีมานานแล้ว และในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ แต่ไม่ทราบว่า มีกลุ่มไหน ซื้ออาวุธผ่านทางประเทศไทย