ที่ประชุมสนช.ใช้เวลาหารือร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.นานกว่า 7 ชั่วโมง ก่อนลงมติเห็นชอบให้เซ็ตซีโร่กกต.ยกชุดด้วยคะแนน 161 เสียง โดยประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายกกต. ชี้แจงการเสนอเซ็ตซีโร่กกต.ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่ได้ต้องการรังแกใคร
เมื่อช่วงเช้า วานนี้ (9มิ.ย.) เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ ร่างกฎหมายกกต. ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายกกต. มีทั้งสิ้น 78 มาตรา ประเด็นสำคัญ คือ มาตรา 70 และ 71 ที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปของ กกต. หรือ กรณีเซ็ตซีโร่ กกต. ชุดปัจจุบัน
โดยในมาตรา 70 เรื่องการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการกกต.ชุดปัจจุบัน ทางกรรมาธิการฯ แก้ไขให้ กกต.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งทั้งหมดนับแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ให้รักษาการจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งมีสมาชิกสนช.หลายคน ใช้เวลาอภิปรายค่อนข้างมาก
ซึ่งสมาชิก สนช.หลายคนต้องการให้ กกต.อยู่ต่อทั้งชุดจนครบวาระ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายนรนิติ เศรษฐบุตร และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โดยนายวัลลภ อภิปรายว่า อยากถามไปที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกรรมาธิการฯ ว่า โกรธอะไรกกต.เป็นการส่วนตัวหรือไม่ เพราะตนไม่แน่ใจว่า เหตุใดกรรมาธิการ จึงอยากให้กกต.ชุดนี้พ้นจากตำแหน่งทั้งชุด ทั้งที่กกต.ชุดปัจจุบันมาถูกต้องทุกประการ แต่กลับไปรังแกกกต. เพราะกกต.บางคนมีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และอยากถามว่า จะเซตซีโร่ทุกองค์กรหรือไม่ หรือเซตซีโรเฉพาะที่ไม่ใช่พวกเท่านั้น การอ้างปลา 2 น้ำ ฟังไม่ขึ้น เพราะในสนช.ก็มีปลาถึง 3 น้ำ ดังนั้นต้องชี้แจงกับชาวบ้านให้ได้ด้วย
"เสรี"เสนอให้กกต.คุณสมบัติครบทำงานต่อ
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนเฉพาะกกต.บางคนที่ขาดคุณสมบัติ เพราะมองว่า ประสิทธิภาพการทำงานของกกต.เป็นเรื่องสำคัญ คนที่มาทำงาน จำเป็นต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจในการทำงาน ดังนั้นควรมีกกต.คนเดิมทำหน้าที่ต่อเนื่อง
ส่วนพันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการกกต. ในฐานะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยที่ไม่ให้เซตซีโร่ กกต.ยกชุด อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการให้กกต.ทั้งชุดสิ้นสุดการทำหน้าที่ เพราะกกต.ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่อย่างถูกต้องทุกกระบวนการ จึงมีคุณสมบัติที่อยู่ต่อตามวาระได้
ประธานกมธ.แจงเซ็ตซีโร่กกต.เพื่อประโยชน์ชาติ
ด้านนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า การตัดสินใจเซตซีโร่กกต. ไม่ได้เกิดจากความโกรธ หรือ รักใคร ใครหรือใครได้ ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเจตจำนงเพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ กรรมาธิการ จึงต้องการให้คนใหม่มาใช้กติกาใหม่ เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพ เพราะหากปฏิบัติแบบเดิม ใช้กลไกแบบเดิม และวิธีการทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางเกิดผลแบบใหม่ได้อย่างแน่นอน ส่วนกฎหมายองค์กรอิสระอื่นๆ จะต้องเซ็ตซีโร่หรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะกรธ.เป็นผู้ร่างกฎหมาย จึงต้องให้กรธ.ตอบเอง
ถก 7 ชั่วโมง สนช.มีมติเห็นชอบ 161 เสียงเซ็ตซีโร่กกต.
จากนั้นที่ประชุมลงมติในมาตรา 70 โดยเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่ให้เซ็ตซีโร่ กกต.ด้วยคะแนน 161เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และเมื่อที่ประชุมพิจารณาครบทั้ง 78 มาตรา ได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ด้วยคะแนนเห็นชอบ 177 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 5 โดยใช้เวลาพิจารณากว่า 7 ชั่วโมง จากนั้นประธานสนช.จึงสั่นปิดการประชุม พร้อมแจ้งว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป
สำหรับขั้นตอนจากนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 คือ ส่งร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. และกรธ.พิจารณาว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนจะส่งความเห็นกลับมาให้ สนช. ภายใน 10 วัน หากไม่มีข้อทักท้วง สนช. ก็จะส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ต่อไป แต่หากยังมีความเห็นแย้ง ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน โดยมีสัดส่วนจาก ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง 1 คน จาก สนช. และ กรธ. ฝ่ายละ 5 คน มาพิจารณาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนส่งให้ สนช. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งรวมกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 25 วัน หาก สนช. มีมติไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ก็จะส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นอันตกไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการยกร่างใหม่