ดีเอสไอ ชี้แจงผลตรวจยึดรถหรูล็อตแรก 32 คัน นำเข้าผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับรัฐ 650 ล้านบาท เผยล่าสุด พบข้อมูลรถหรูนำเข้าผิดอีก 300 คัน
พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบซูเปอร์คาร์ จากบริษัทผู้นำเข้า เมื่อวันที่ 18 และ 24 พฤษภาคมนี้ ยัดรถซูเปอร์คาร์ 32 คัน จาก 122 คัน อาทิ ลัมโบกินี โรสลอยด์ แมคคาเรน
นายกุลิศ เปิดเผยว่า เมื่อตรวจสอบกับประเทศต้นทางของรถยนต์หรูดังกล่าว พบมีการสำแดงบัญชีราคาเท็จ 32 คัน เป็นรถลัมโบกินี่ 31 คัน และเล็กซัส 1 คัน พบว่าทำให้ภาษีอากร 650 ล้านบาท โดยอาศัยช่องโหว่จากระบบการเปรียบเทียบราคาสำแดง และ มีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจำนวนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีการไล่ออกแล้ว 1 คน
ขณะที่ พันตำรวจโทกรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พบว่ามีรูปแบบการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 2 รูปแบบ คือลักลอบนำรถที่ไม่มีเอกสารการเสียภาษี ยืนยันการนำเข้ามาอย่างถูกต้องออกจากเขตฟรีโซนจากท่าเรือต่างๆ และอีกวิธี คือการแจ้งรุ่นของรถเท็จ เช่น รถลัมโบกินี่ รุ่นเอเวนทาดอร์ ที่แจ้งเป็นรุ่นเกลาโดร์ ที่เป็นรถรุ่นเก่า ราคาถูกกว่ารุ่นเอเวนทาดอร์ถึง 1 เท่า เบื้องต้นพบรถสำแดงเท็จ 8 คัน สร้างความเสียหาย 132 ล้าบาท
และล่าสุด ดีเอสไอ พบข้อมูลว่ามีรถหรูอีก 300 คัน เข้าข่ายว่านำเข้าโดยผิดกฎหมาย เป็นรถของผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ และบางส่วนอยู่ในมือของผู้ซื้อ เตรียมส่งข้อมูลทั้งหมดให้กรมศุลกากรไปตรวจสอบแล้ว
นอกจากนี้ ดีเอสไอ ได้ฝากแจ้งเตือนให้กับบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์และตัวแทนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปว่าหากมีคณะบุคคลหรือบุคคลใด ๆ แอบอ้างตนเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกรับผลประโยชน์อันเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ขออย่าได้หลงเชื่อและให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุโดยเร็ว และแจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทราบที่หมายเลข 0-2831-9888 เพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป
นอกจากนี้ นายกุลิศ (อธิบดีกรมศุลกากร) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนการประเมินภาษีรถยนต์หรูที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อให้มีความทันสมัย แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎ แกต (gatt) อัตราภาษีศุลกากรและการค้า โดยภายหลังปรับแก้หลักเกณฑ์แล้ว จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นธรรมและตรวจสอบได้ คาดว่าจะสามารถนำหลักเกณฑ์ที่ปรับแก้แล้วมาใช้ในการประเมินภาษีภายในเดือนกรกฎาคม