สนช. ปิดห้องประชุมลับนานกว่า 1 ชั่วโมง หารือผลตรวจสอบ 7 สนช. ที่ขาดการลงมติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบว่า 7 สนช. ไม่ผิดจริยธรรม นอกจากนี้ สนช. ยังเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ฉบับใหม่ โดยตัดข้อบังคับเรื่องการลงมติออกไป
วานนี้ (16 มิ.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายสุ
รชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช.ที่มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธาน
ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อร้องเรียนของ 7 สนช. ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม สนช.เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ในข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ. 2557 ได้แก่ 1. พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ 2. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3. นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี 5. พลเอกปรีชา จันทร์โอชา 6. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง และ 7. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ โดยเป็นการประชุมลับใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง
ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการสอบสวนการลาประชุมของแต่ละคนให้ที่ประชุมรับทราบ โดยแต่ละคนได้ลาประชุมเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ตามภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัดของตนเอง และเมื่อพิจารณาแล้วถือว่าขาดการประชุมน้อยมาก จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ผิดจริยธรรม และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการจริยธรรม
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสนช.ซึ่งได้ยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีทั้งหมด 225 ข้อ มาใช้แทนข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557 ที่ยกเลิกไป โดยตัดเนื้อหาสำคัญในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. เรื่องการให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดในกรอบระยะเวลา 90 วัน ออกไป และตัดเรื่องกระบวนการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ตัดอำนาจหน้าที่การถอดถอนออกไป
ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นข้อบังคับต่อไป
นายสุรชัย ชี้แจงว่า เมื่อข้อบังคับประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สมาชิก
ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับฉบับนี้ ส่วนกรณีตัดเรื่องการบังคับให้สมาชิกลงมตินั้น ขอชี้แจงว่า ข้อบังคับฉบับใหม่นี้เขียนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติว่า หากสมาชิกขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมนั้นๆ จะทำให้สิ้นสมาชิกสภาพ
แต่ไม่ได้บังคับเกณฑ์การลงมติของสมาชิกสนช.เหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้อำนาจไว้เหมือนปี 57 ข้อบังคับการประชุมจึงไม่สามารถเขียนไว้ได้