หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ระบบไพรมารีโหวต ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยด้าน "สมเจตน์" โต้ "ไพรมารีโหวต" ไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ยืนยัน กมธ. ไม่ได้ยกร่างตามใจตัวเอง
พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. กล่าวถึง กรณีพรรคการเมืองคัดค้านเรื่องระบบไพรมารีโหวต ในร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ว่า หลังจากนี้ขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ขึ้นอยู่ว่า กรธ. และ กกต. จะพิจารณาร่วมกันอย่างไร กฎหมายตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ยืนยันว่า พิจารณากฎหมายตามขั้นตอนและกระบวนการ ยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาตามใจตัวเองแต่อย่างใด เพราะบางครั้งการไปสู่เป้าหมายก็ต้องการเวลา ซึ่งในการปฏิบัติ กฎหมายพรรคการเมืองก็เช่นกัน การจะปฏิบัติต้องใช้เวลา
และจากกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เตรียมเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อร่วม หารือ ในวันที่ 19 มิถุนายน นี้ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในประเด็น ไพรมารีโหวต ว่า จะมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่นั้น ทาง กกต. ได้แจ้ง กรธ. แล้วว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน กกต. ไม่สะดวก เนื่องจาก ด้านกิจการพรรคการเมืองติดภารกิจ เบื้องต้น น่าจะเป็นวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีการเชิญตัวแทนพรรคการเมือง ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมหารือ ด้วย
"อลงกรณ์" ชี้ ระบบไพรมารี จะสามารถสถาบันทางการเมืองที่ดี
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง กล่าวถึง ระบบไพรมารี ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองที่วางหลักการสำคัญ คือพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของคนใด หรือ กลุ่มใด
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองกังวลว่าจะทำได้ยาก แต่ระบบไพรมารี กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง ดังนั้น หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่เอาเรื่องที่เสนอใหม่ รวมทั้งบิดเบือนเป็นเรื่องเลื่อนการเลือกตั้ง มองว่าการปฏิรูปทางการเมืองจะสำเร็จได้อย่างไร
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ตัวเองเป็นคนเสนอนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยทดลองระบบไพรมารีโหวต ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มั่นใจว่าถ้านำมาใช้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองในทางที่ดีขึ้น
‘เสรี’จวกนายทุนพรรค-พวกค้านไพรมารีโหวต
ส่วน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึง กรณีที่นักการเมืองในพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาคัดค้านแนวคิดระบบไพรมารีโหวต ว่า หากต้องการปฏิรูปก็ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง หากต้องการทำเพื่อประโยชน์ประชาชนและบ้านเมือง ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนอย่างแท้จริงเข้าสู่การเลือกตั้ง สำหรับระบบไพรมารีโหวต คือการให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนในการเลือกตั้งอย่างแท้จริงระดับหนึ่งก่อน จึงมองว่า ไม่ควรกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน
“สุริยะใส” หนุนแนวคิดไพรมารีโหวต ย้ำปฎิรูปมีราคาที่ทุกคนต้องจ่าย
ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เห็นด้วย กับ ระบบไพรมารีโหวต เพราะเป็นหลักการสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก และ ลดอิทธิพลการครอบงำของกลุ่มทุนในพรรคการเมือง แต่ในระยะแรกเริ่ม อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เพราะนอกจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ในระยะเริ่มต้น อาจจะกำหนดเป็นโซนพื้นที่ เป็นสัดส่วน ไม่ใช่พร้อมกันทั้งหมด ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก พร้อมทั้งมองว่า การปฎิรูปการเมืองมีราคาที่ทุกคนต้องจ่าย ต้องปรับตัว เสียสละกันบ้าง โดยเฉพาะนักการเมือง ยิ่งต้องเสียสละมากกว่าคนอื่น
'วรงค์' หนุนใช้ระบบไพรมารีโหวต
ส่วน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ระบบไพรมารีโหวต ว่า ส่วนตัวคิดว่าผู้สมัคร ส.ส.มาจากการคัดเลือกขั้นต้นของสมาชิกพรรคนั้น มาจากผู้บริหารพรรคไม่กี่คน หรือ บางพรรคการเมืองก็มาจากคนที่มีอิทธิพลในพรรคเป็นคนตัดสิน เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยมีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว อีกทั้งจะต้องมาเสียค่าสมาชิกรายปีอีก ก็จะยิ่งหาสมาชิกยากขึ้น แต่ถ้ามีการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากเป็นสมาชิกพรรคกันมากๆ ระบบไพรมารี ที่จะนำมาใช้ก็จะมีประโยชน์ จะมีส่วนทำให้ระบบการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงได้
"ไพบูลย์" เห็นด้วย ระบบไพรมารีโหวต
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึง ระบบไพรมารีโหวต ว่า เป็นมิติใหม่ของการปฏิรูปพรรคการเมือง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการส่งผู้สมัคร ส.ส. เป็นการเปิดโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงและหลากหลายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นจุดดึงดูดให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองเข้ามาร่วม เป็นสมาชิกพรรค โดยต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคและมีสิทธิดูแลเป็นเจ้าของพรรค มีสิทธิร่วมคัดเลือกผู้สมัครลง ส.ส. เองได้ด้วย จึงเห็นด้วยกับ ระบบไพรมารีโหวต ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป เพื่อให้เป็นพรรคของประชาชน กลับมั่นใจว่าระบบไพรมารีโหวตและการกำหนดให้สมาชิกพรรคมีทั้งสิทธิและหน้าที่เพิ่มขึ้นนั้น มั่นใจมากว่าพรรคประชาชนปฏิรูปจะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้มากกว่า 300 เขตทั่วทั้งประเทศแน่นอน
สมาชิกเพื่อไทย สวนกระแสหนุน 'ไพรมารีโหวต'
ไปกันที่ความเห็นของสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย นางสาวจารุพรรณ กุลดิลก อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ระบบไพรมารีโหวต ว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่ระบบดังกล่าวเป็นการให้เกียรติเสียงของประชาชน ในการเลือกตัวแทนของตัวเอง มากกว่าให้คนใด หรือ กลุ่มใด ในพรรคการเมือง มีอำนาจสูงสุด ที่จะตัดสินใจส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในอีกทางหนึ่งก็จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของประชาชนในระดับท้องถิ่นด้วย ว่า มีความพร้อมกับการทุ่มเทให้ภาคการเมืองแค่ไหน เนื่องจาก พบว่า ประชาชนในส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับปัญหาปากท้อง การทำมาหากินมากกว่า โดยมองว่า ตัวเอง ก็เป็น ส.ส. จากการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่กลัวว่า ระบบไพรมารีโหวต จะทำให้ไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะทำงานต่อสู้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง