เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก จังหวัดชุมพร เข้าให้ปากคำตำรวจหลังออกมาแฉเงินทุจริตวัด ยืนยันทุกอย่างเป็นเรื่องจริง ขณะที่ วันนี้ (19 มิ.ย.) นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียก เจ้าหน้าที่ พศ. หารือเรื่องการจัดทำบัญชีรายรับ-จ่ายวัดอย่างละเอียด

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงความคืบหน้า เรื่องการแก้ปัญหาทุจริตเงินวัด และ การรายงานบัญชีเงินวัดว่า ได้สั่งการพันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำบัญชีวัด และการประพฤติมิชอบของข้าราชการใน พศ. มาให้ตรวจสอบแล้ว

พร้อมได้ย้ำเกี่ยวกับ เรื่องบัญชีวัด และ การตรวจสอบความโปร่งใสในพศ. ต้องรอบคอบ เนื่องจากพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน อาจจะกระทบต่อความรู้สึกของพระภิกษุ และพุทธศาสนิกชนได้ เพราะปัญหาเกิดก่อนจะแก้การเบิกจ่ายงบประมาณวัดในปี 2558

นายออมสิน บอกต่อว่า ในวันนี้ ( 19 มิ.ย.) ได้เรียก พศ.มาหารือเรื่องการจัดทำบัญชีวัดอีกครั้งหนึ่ง หลังส่งบัญชีเงินวัดของปี 2559 มาให้ตรวจสอบแล้วทั้งหมด แต่ที่จะดูต่อจากนี้ คือ บัญชีที่ส่งมามีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ต้องมีการบันทึกรายงานการเบิกจ่ายอย่างละเอียด

ส่วนกระแส ที่ว่า รัฐบาลทำงานข้ามหน้ามหาเถรสมาคม (มส.) นั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะรัฐบาลได้หารือกับทางพระมหาเถระ ใน มส.อย่างต่อเนื่อง เพราะการทำอะไรเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ต้องให้ มส. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุด มีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประมุขสงฆ์ ทรงทราบก่อน จะทำโดยพละการไม่ได้ และการจะสื่อสารอะไรออกสู่สาธารณะ ต้องไม่โผงผาง จะทำให้พระตกใจได้

ผอ.พศ.ขอเวลาทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตเงินทอนวัด

ขณะที่ พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า การตรวจสอบภายในของ พศ. โดยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้เริ่มกระบวนการทำงานแล้ว แต่ต้องขอระยะเวลาอีกสักระยะเพื่อหาข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องคดีการทุจริตเงินทอนวัดนั้น ยังไม่มีอะไรคืบหน้า พศ.ได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ทางตำรวจแล้ว หากมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม พศ.พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งสภาได้ท้วงติงปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณของพศ. และพระสังฆาธิการบางส่วน จึงต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มิเช่นนั้น ต่อไปการเสนอของบประมาณจะยาก และสภาก็ไม่อยากที่จะอนุมัติงบประมาณมาให้

ป.ป.ช. นำสำนวนทุจริตเงินทอนหารือ 22 มิถุนายนนี้

ขณะเดียกวัน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต และประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ได้ส่งสำนวนการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดมายัง ป.ป.ช.นั้น คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณาว่า จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 คือ เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือ เบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตน หรือของผู้อื่น หรือไม่ พร้อมดูในมาตรา 157 คือ เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้สำนวนที่ได้รับมาถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ แต่หากประชุมแล้วพบว่าขาดสิ่งใดก็จะขอข้อมูลจาก ปปท.หาหลักฐานมาเพิ่ม และทยอยส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาสำนวนในรอบแรกก่อนได้ ไม่ต้องรอให้ ปปป. ส่งสำนวนมาครบทุกวัดที่มีการตรวจสอบ

เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก ให้ปากคำ ตร. ยืนยันมีทุจริตเงินทอนจริง

ขณะที่ พระอธิการทวี ธัมมะทินโน เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ได้เดินทางไปพบ พนักงานสอบสวน สภ.สวี ตามคำนิมนต์ของตำรวจเพื่อให้ปากคำ เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ที่มีเจ้าหน้าที่ พศ.ทุจริตเงินทอน โดยตำรวจไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวและผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ารับฟัง

หลังสอบปากคำนานกว่า 4 ชั่วโมง พระอธิการทวี เปิดเผยเพียงว่า “ได้ให้การไปตามข้อเท็จจริงทั้งหมด และ พร้อมจะให้การกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ รวมถึงพร้อมเปิดเผยเอกสารทั้งหมด เชื่อว่า พนักงานที่อยู่ในวันไปโอนเงิน จะสามารถเป็นพยานให้ได้ หรือ แม้แต่ระบบบันทึกการโอนเงิน ก็น่าจะมีการบันทึกการโอนเงินจากบัญชีวัดไปยังบัญชีอื่น จำนวน 2 ล้านบาทได้

ส่วนการโดยข่มขู่ฆ่าตามที่เป็นข่าวนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไม่ให้ความร่วมกับพวกทุจริตเงินทอนวัด เมื่อประมาณต้น ปี 2559 แต่ข่าวที่ออกมาตำรวจเดือดร้อนไปด้วยก็ต้องขออภัย ซึ่งได้มีตำรวจเข้ามาช่วยดูแลในช่วงนี้แล้ว จึงสบายใจขึ้น แต่ก็ไม่เกรงกลัวสิ่งใดเพราะ ถือว่า ทำเพื่อรักษาความถูกต้อง ในวงการพุทธศาสนา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสข่าว ว่า พระชั้นปกครอง ได้โทรศัพท์มาข่มขู่ พระอธิการทวี ว่า จะปลดออกจากเจ้าอาวาสวัด และ จะให้ติดคุกเพียงคนเดียว หลังกระแสข่าวเงินทอนวัดเผยแพร่ออกไป

ทนายความ แนะพระควรรู้ข้อกฏหมาย พร้อมปฎิรูปวงการสงฆ์

ขณะที่จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มี 3 วัดมีรายชื่เกี่ยวข้องกับทุจริตเงินทอนวัดนั้น ผู้สื่อข่าวสอบถามกับ นายโสณิ สุวรรณี ทนายความชื่อดังของจังหวัด เกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายว่า วัดมีความผิดอย่างไรหรือไม่นั้น

นายโสณิ บอกว่า ต้องดูเจตนาของพระในการรับโอนเงิน และโอนกลับคืน หากเจตนาพระไม่รู้เห็นตามที่ปรากฎเป็นข่าว พระก็ไม่มีความผิด เพราะมีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะรับเงินส่วนนี้มาบูรณะวัดให้เจริญก้าวหน้า จะว่ารับของโจรก็ไม่ใช่ แต่ต่อไปควรจะมีการบังคับการใช้กฎหมายเพื่อ สร้างความโปร่งใสความเข้าใจให้ทุกภาคส่วน และพระสงฆ์ต่อไปต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเงินที่รับจากโครงการของรัฐด้วย

ขณะเดียวกัน พระอาจารย์อาทิตย์ อริญ.ชโย รองเจ้าอาวาสวัดพระศรีเจริญ หนึ่งในวัดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเงินทอน เปิดเผยว่า ล่าสุด พระครูกิตติโกศล เจ้าอาวาสวัดได้กลับมาจำวัดแล้ว หลังอาพาธหนักช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีเจ้าหน้าที่ ปปป. เข้ามาตรวจสอบข้อมูล พร้อมยืนยันว่า วัดพระศรีเจริญ ไม่ได้มีความผิด มีความบริสุทธิใจในการรับเงินมาบูรณะวัด และ การกล่าวโจมตีวัด โจมตีพระสงฆ์ของสื่อบางแห่ง ถือว่าไม่ใช่เรื่องจริง

ขณะที่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การทุจริตเงินอุดหนุนวัด" และ การบริหารจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน จากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 คน

สอบถามถึงความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับ สาเหตุหลักของช่องโหว่ในการทุจริตเงินอุดหนุนวัด พบว่า ร้อยละ 44.48 เห็นว่า วัดขาดการบริหารจัดการ มีความหละหลวมตรวจสอบบัญชีรายรับ-จ่ายของทรัพย์สิน ร้อยละ 35.92 มีความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 29.84 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีความหละหลวมตรวจสอบ การเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่วนกลุ่มบุคคลที่คาดว่า อาจมีส่วนรู้เห็น หรือ เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ร้อยละ 71.76 เห็นว่าเป็นคณะกรรมการวัด ร้อยละ 38.24 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติบางคน ร้อยละ 36.96 เจ้าอาวาส ร้อยละ 26.00 ข้าราชการ หรือ อดีตข้าราชการบางคน ร้อยละ 5.92 ไม่แน่ใจ

ขณะที่ การจัดทำบัญชีรายรับ-จ่าย ทรัพย์สินวัด ควรเปิดเผยให้แก่สาธารณชนทราบ เพื่อให้ตรวจสอบได้หรือไม่นั้น ร้อยละ 90.24 เห็นด้วย เพราะประชาชนจะได้สบายใจ และทราบว่าทางวัดมีการนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง ร้อยละ 3.92 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็น ถือว่าเป็นเรื่องภายในของวัด

ส่วนการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายทรัพย์สินของวัด ช่วยลดการทุจริตเงินวัดได้หรือไม่นั้น ร้อยละ 38.80 เห็นว่า ช่วยลดการทุจริตได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 38.80 ช่วยลดการทุจริตได้มาก และ ร้อยละ 1.76 ช่วยลดการทุจริตได้ปานกลาง

"ออมสิน"ถกพศ.บัญชีวัด-ทุจริตเงินทอนวัดวันนี้