ที่ประชุมครม.เห็นชอบสร้าง "หอชมเมืองกรุงเทพฯ" สูง 459 เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยไม่ต้องเปิดประมูล ใช้งบประมาณ 4,600 ล้านบาท ขณะที่ คสช.เตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 ยืดเวลาให้ประชาชน แจ้งการปลูกบ้านรุกล้ำริมน้ำออกไปอีก 60 วัน เพื่อลดผลกระทบของประชาชน
พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า คสช.เตรียมใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งยืดเวลาให้ประชาชนมาแจ้งถึงการสร้างบ้าน ที่พัก หรือ โรงแรมที่ ล่วงล้ำลำน้ำ กีดขวางการเดินเรือ กีดขวางการใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเดิมที่หมดวลาการแจ้งไปแล้วเมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยยืดออกไปเบื้องต้น60 วัน หากยื่นไปแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
และยกเว้นต่อผู้ที่มาแจ้ง ไม่ให้มีโทษย้อนหลัง คือไม่ต้องเสียค่าปรับในส่วนที่รุกล้ำไปแล้วในอดีต ซึ่งในส่วนของบ้านเรือนประชาชนริมน้ำ ไม่ต้องจ่ายค่าปรับแต่มีอัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 5 บาท ส่วนอุปกรณ์การหาปลา เช่น กระชังเลี้ยงปลาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ที่ผ่านมามีคนมาแจ้งกับกรมเจ้าท่าประมาณ 30,000 ราย จาก 100,000 รายทั่วประเทศ
ที่ประชุมครม.อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างหอชมเมือง กรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีประมูล เพราะเกรงว่า จะทำให้โครงการล่าช้า และอาจจะไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีรูปแบบการดำเนินการเชิงสังคม
สืบเนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง(ความสูง 459 เมตร) เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 4,621 ล้านบาท เพื่อจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคด้วยการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล
ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณ 1,841 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2560 กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 25-30 ล้านไร่ โดยจะจ่ายเบี้ยประกัน 97 บาท 37 สตางค์ต่อไร่ ซึ่งรัฐบาลออกค่าเบี้ย 61 บาท 37 สตางค์ต่อไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกค่าเบี้ยให้กับลูกค้า ธ.ก.ส.อีก 36 บาทต่อไร่
สำหรับความคุ้มครองประกันภัยข้าวนาปีนี้จะคุ้มครองใน 6 ภัยธรรมชาติ คือ ภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ