นายกรัฐมนตรีชี้แจงงบประมาณก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯกว่า 4 พัน 6 ร้อยล้านบาท ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่ใช้งบประมาณของเอกชน พร้อมชี้แจงสาเหตุสร้างเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใครทั้งสิ้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้สร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร โดยใช้งบประมาณกว่า 4,600 ล้านบาทว่า การสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล และไม่ใช่เรื่องธุรกิจ รวมทั้งไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร
สำหรับการสร้างหอชมเมือง เป็นโครงการที่เสนอขึ้นมาและมีการพิจารณามานานแล้ว เพราะรัฐบาลมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้หอชมเมืองในการเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยภายในจะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยและสถาบัน
ด้านพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ครม. อนุมัติหลักการ ให้มูลนิธิหอชมเมือง กทม. สามารถสร้างหอชมเมืองในพื้นที่ราชพัสดุ ประมาณ 4 ไร่ ที่ซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร โดยใช้งบประมาณ 4,621 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คืองบก่อสร้างคือ 4,422 ล้านบาท และค่าเช่าที่ดิน 198 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี
โดยหอชมเมือง มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้ ภายในอาคารจะไม่มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการค้า แต่จะเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง
นอกจากนี้ยังกำหนดว่า ค่าบัตรเข้าชมที่ได้นั้นจะไม่มีการแบ่งสรรปันส่วนให้กับเอกชนโดยเด็ดขาด แต่จะใช้เพื่องานกุศลทั้งสิ้น ส่วนงบที่ใช้ก่อสร้างเป็นงบประมาณของมูลนิธิฯ และอีกส่วนเป็นการลงขันระหว่างนักธุรกิจภาคเอกชน โดยไม่มีงบของรัฐแม้แต่บาทเดียว
ส่วนกรณีที่การก่อสร้างโครงการดังกล่าว ไม่ต้องผ่านการประมูล เพราะการสร้างหอชมเมืองไมได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล อีกทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง และหวังผลเชิงสังคม ดังนั้นหากมีการประมูลอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าได้
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะมีความสูง 459 เมตร ซึ่งจะเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
วัตถุประสงค์สร้างให้เป็นแลนด์มาร์ค และเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ โดยชั้นบนสุดของหอชมเมืองฯ จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์ เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รายได้ของโครงการ จะมาจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมแก่นักท่องเที่ยวราคา 750 บาทต่อคน คนไทยจะลดค่าตั๋วเข้าชม 50% คาดมีรายได้ 1,054 ล้านบาทต่อปี และประเมิณว่าโครงการจะมีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศล