คณะเกษตรศาสตร์ ม.นร จับมือป่าไม้ เตรียมยกระดับต้นปลาไหลเผือก เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในพื้นที่ นำไปเป็นยาดูแลสุขภาพ และสมรรถภาพทางร่างกาย

ในโอกาสเปิดงานวันสถาปนาครบรอบ 11 ปี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส ทางคณะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมอนุรักษ์พืชสมุนไพรที่สำคัญในท้องถิ่น คือ ปลาไหลเผือก หรือ ตุงกัดอาลี ที่มีสรรพคุณทางยา ให้คงอยู่คู่เมืองนราธิวาต่อไป

โดยพืชพื้นเมืองดังกล่าว มีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกาย ด้วยการปรับสภาพโฮร์โมน ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ตลอดจนขยายหลอดเลือดให้ไหลเวียนดี รวมทั้งฟื้นฟูสภาพร่างกาย และอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานดีขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคต คณะเกษตรศาสตร์ร่วมกับกรมป่าไม้ จะนำพืชชนิดนี้เข้าไปใช้ในการปลูกพืช เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร ที่ปลูกพืชร่วมกับพืชชนิดอื่น ให้เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพดินราบ ทั้งดินพรุ ดินเปรี้ยว และภูเขาสูง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถเจริญเติบโต และพัฒนาตัวเองได้ดี

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส กล่าวว่า ปลาไหลเผือก เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในทางการแพทย์แผนไทย และตำรับยาของชาติ ที่มีการใช้เป็นอย่างมากในหมอพื้นบ้าน โดยพืชปลาไหลเผือก ที่ปลูกเองนั้น ถือเป็นทรัพย์สิน และไม่ได้เป็นไม้ต้องห้าม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ถ้านำออกมาจากป่า จะถือว่า ผิดกฎหมาย

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือมาเลเซีย ได้มีการจดลิขสิทธิ์ และมีการปลูกกันเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางยาบำรุงร่างกาย

ขณะที่ในประเทศไทย ยังไม่มีใครปลูก เนื่องจากเป็นไม้ที่หายาก ซึ่งทางคณะเกษตรศาสตร์และกรมป่าไม้ ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงร่วมกันศึกษา และอนุรักษ์พันธุกรรม เพื่อให้ชาวบ้านหรือหมอพื้นบ้านที่ใช้สูตรยาเหล่านี้จะได้มีใช้ตลอดไป

Cr.แวดาโอ๊ะ // นราธิวาส