"พรเพชร วิชิตชลชัย" ขออย่าตื่นตระหนกข่าว สนช. คว่ำกฎหมายลูก มั่นใจตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหาข้อสรุปได้แน่นอน ยืนยันไม่เลื่อนเลือกตั้ง ด้าน "วิษณุ เครืองาม" ยืนยันโรดแมปยึดตามรัฐธรรมนูญไม่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อ สนช. ไม่คว่ำกฎหมายลูก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฟันธงว่า จะไม่มีการเลือกตั้งในปี 61 เพราะยังมีความขัดแย้งเรื่องกฎหมายลูกว่า สิ่งที่นายนิพิฏฐ์ ระบุ เป็นโรดแมปของนายนิพิฏฐ์เอง แต่ตนอยู่กับรัฐบาล จึงต้องยึดโรดแมปของรัฐบาล ขอให้สื่อช่วยนำสิ่งที่ตนพูดไป ยืนยันกับนายนิพิฏฐ์บ้าง เพราะถ้าไปกางรัฐธรรมนูญดู ทุกคนจะพูดตรงกันทั้งประเทศ
ส่วนกรณีที่นายนิพิฏฐ์คาดว่า กฎหมายลูกจะถูกสนช.คว่ำนั้น รัฐบาลก็ไม่คิดเช่นนั้น แต่หากเก่งจริงทำไมไม่คิดอย่างอื่น กลับไปคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ก็ไม่ผิดที่จะคิดไว้ก่อน เพียงแต่ผิดที่คิดแล้วออกมาพูดจนทำให้เกิดความตื่นตระหนก ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้ตระหนกไปลมๆแล้งๆ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาตอกย้ำโรดแมปทุกวัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดโรดแมปไว้แล้ว หากไม่ทำตามนั้นถือว่า ขัดรัฐธรรมนูญ
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขออย่าเพิ่งตกใจว่า จะมีการคว่ำกฎหมายลูก เพราะทั้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองยังอยู่ในระยะแรก โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
นายกฯ ยังได้สอบถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และตนเองว่า ทะเลาะอะไรกันหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่มีการทะเลาะ มีแต่การแสดงเหตุผล เพื่อหาข้อสรุปเท่านั้น
ซึ่งเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาจะได้ข้อสรุป และยังมองไม่เห็นทางที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็ป
เช่นเดียวกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ยืนยันว่า การที่กรธ.และสนช.มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องไพรมารี่โหวต ไม่ได้เป็นการทะเลาะกันตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น และไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อคว่ำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จนนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น โรดแมปการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดเดิม จึงอยากให้มองโลกในแง่ดีบ้าง
ซึ่งในการประชุมสนช.วันนี้ (30 มิ.ย.) จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันระหว่างสนช. กรธ. และกกต. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของสนช.แล้วเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังความเห็นจาก กรธ.และกกต.ว่า จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3ฝ่ายหรือไม่