“สมชัย ศรีสุทธิยากร” มั่นใจปัญหาขัดแย้งเรื่องกฎหมายลูก ไม่ส่งผลกระทบจนต้องเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะยังอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือนที่กำหนดไว้ พร้อมระบุอาจไม่ทำความเห็นแย้งร่างกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเห็นว่า ไม่มีเนื้อหาส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า หลังจากกกต.ได้รับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทางกกต.ได้มอบหมายให้สำนักงานกกต.ไปดูเนื้อหาและรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแบบรายมาตราว่า มีส่วนใดขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากพบว่ามีส่วนใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์ ให้รายงานต่อกกต.เพื่อรับทราบโดยเร็ว แต่เบื้องต้น ขณะนี้ทางสำนักงานฯ ยังไม่มีการรายงานว่า พบสิ่งใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากไม่มีประเด็น ที่ขัดเจตนารมณ์ ทางกกต.อาจจะมีมติไม่ทำความเห็นแย้งส่งกลับไปยังสนช.
ส่วนการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ร่วมกัน 3 ฝ่ายในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ทางประธานกกต.จะเป็นตัวแทนกกต.ไปชี้แจง โดยจะนำเหตุผลและคำอธิบายต่างๆ ไปขยายความเพื่อให้เข้าใจว่าทั้ง 6 ประเด็นที่กกต.เสนอความเห็นแย้งกลับไปนั้นขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างไร
กกต.เชื่อปัญหากฎหมายลูกไม่ส่งผลเลื่อนเลือกตั้ง
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนปัญหาความเห็นต่างในร่างกฎหมายลูกจะส่งผลให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าโรดแมปการเลือกตั้งจะไม่มีการขยับออกไป เพราะกฎหมายสองฉบับแรกคือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พิจารณาในช่วงต้นของกรอบระยะเวลา 8 เดือนในการทำกฎหมายลูก ซึ่งขณะนี้เพิ่งจะเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการทำกฎหมาย หากต้องปรับปรุงแก้ไขหรือต้องร่างใหม่ก็คิดว่า น่าจะดำเนินการได้ทันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้
ประธานกกต.ร่วมถก 3 ฝ่ายร่างกฎหมายกกต. 4 ก.ค.นี้
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.กล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ร่วมกัน 3 ฝ่ายในวันที่ 4 กรกฎาคม ว่า เบื้องต้นเตรียมชี้แจงปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติประเพณี หลักความเสมอภาค บรรทัดฐานการออกกฎหมายที่ใช้แก่องค์กรอิสระทุกองค์กรว่ าเป็นบรรทัดฐานเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจากการได้ดูรายชื่อกรรมาธิการร่วมแล้ว ไม่มีความกังวลอะไร เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่และเป็นบุคคลสำคัญของบ้านเมืองย่อมจะต้องมีเหตุผลชี้แจงแสดงเหตุผลที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมต่อที่ประชุมอยู่แล้ว ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก
"สุริยะใส"ตำหนินักการเมืองค้าน"ไพรมารีโหวต"
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวกระแสการคัดค้านระบบไพรมารีโหวตว่า ตนไม่แปลกใจที่บรรดาพรรคการเมืองโดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ประการศจุดยืนคัดค้านไพรมารีโหวต โดยไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีเลย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่ไม่เป็นระบบ ผูกขาดโดยเจ้าของพรรคไม่กี่คนและนายทุนพรรค จนทำให้คนขับรถคน คนติดตามหรือเครือญาดิใกล้ชิดเจ้าของพรรคก็สามารถเลือกพื้นที่ลงเลือกตั้งได้ จนกลายเป็นระบบแฟมิลี่โหวต (family vote) พรรคการเมืองมีสิทธิค้าน แต่ต้องมีทางออกให้กับประชาชนที่คาดหวังและอยากเห็นการปฏิรูปพรรคการเมืองด้วย