"นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกระบวนการพิจารณาคดีจำนำข้าว เหตุรัฐธรรมนูญปี 60 บัญญัติใหม่ ให้ศาลใช้ สำนวน ป.ป.ช.เป็นหลัก
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ถึงกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว ของทีมกฏหมาย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กระบวนพิจารณาคดีตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2558นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นให้ยึดสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี และ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติ่มได้
แต่ขณะนี้ประกาศใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้มีบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาฯ มาตรา 235 ที่ระบุตอนท้ายว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ดังนั้นการยื่นคำร้องของทนายฝ่ายจำเลย จึงต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การพิจารณาตามกระบวนการเดิมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่
เนื่องจากการต่อสู้คดีของจำเลยที่ผ่านมา อัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ โดยไม่มีการไต่สวนไว้ในรายงาน และสำนวนของ ป.ป.ช.เอกสารบางเรื่องเป็นเอกสารใหม่ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น และไม่ได้อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยได้ร้องคัดค้านเพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วยกคำร้อง
ทั้งนี้ หลังการสืบพยานจำเลยนัด วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านสรุปการพิจารณาคดีโดยแจ้งต่อคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นการขัดแย้งไม่เป็นไปตามมาตรา 235วรรค 6 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงได้ขอให้ศาลฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยองค์คณะฯ ได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในนัดหน้า 21กรกฎาคมนี้ ว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่