โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เตือนประชาชนพื้นที่ชายแดนใต้ อย่าให้ที่พักพิงกับกลุ่มผู้ก่อความ เพราะจะได้รับโทษไม่ต่างจากสองสามีภรรยา ที่ถูกศาลจังหวัดยะลา สั่งจำคุก 3 เดือน หลังให้ที่พักพิงผู้ต้องหาหนีหมายจับจนปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต
พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึง กรณีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุม นายลุกมาน มะดิง ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 5 หมาย ที่บ้านหลังหนึ่ง ในตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นเหตุให้ นายลุกมาน เสียชีวิตหลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว 2 สามีภรรยาเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ คือ นายสือดี มาหะมะ และ นางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี ไปซักถามข้อเท็จจริงที่ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น
พันเอกปราโมทย์ เปิดเผยผลการซักถาม ว่า ในขั้นต้น นายสือดี ให้การยอมรับว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มแนวร่วม มีหน้าที่จัดเก็บเงินรายเดือน จากสมาชิกแนวร่วมในพื้นที่ และ ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะนายลุกมาน มะดิง เคยมาพักพิงที่บ้านแล้ว 2 ครั้ง หลังการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่ได้ส่งฟ้อง 2 สามีภรรยา
และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดยะลา ได้มีคำสั่งพิพากษา ตัดสินลงโทษจำคุก นายสือดี และ นางสีตีพาตีเมาะ ฐานให้ที่พักพิงแก่นายลุกมาน คนละ 3 เดือน และปรับคนละ 1 หมื่นบาท โดยโทษจำคุก ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
พันเอกปราโมทย์ บอกต่อว่า จากการตรวจสอบเหตุการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรง มักเข้ามาอาศัยพักพิง และหลบซ่อน เพื่อเตรียมก่อเหตุความรุนแรงที่บ้านญาติ บ้านแนวร่วม รวมถึง บ้านผู้ให้การสนับสนุน จึงอยากฝากถึงประชาชนว่า หากให้ที่พักพิงผู้ทำผิดกฎหมาย นอกจากจะได้รับโทษ ในฐานให้ที่พักพิง มีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทแล้ว อาจได้รับโทษ ฐานเข้าไปมีส่วนร่วม หรือ สนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งมีอัตราโทษที่สูงขึ้นอีกด้วย
ครั้งนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญ และตระหนักถึงผลกระทบ จากการให้ความช่วยเหลือหลบซ่อนพักพิง และ สนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรง หากพบบุคคลแปลกหน้า หรือ บุคคลต้องสงสัยเข้ามาในเขตที่พักของตน ต้องรีบแจ้งให้ผู้นำท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ รับทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วน โทร.1341 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและปลอกกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุดังกล่าว พบว่า เคยใช้ก่อเหตุมาแล้ว 5 เหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2555-2559