หลายจังหวัดจัดงานแห่เทียนสวยงามอลังการ เนื่องในวันเข้าพรรษา
ที่หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาประปี 2560 โดยในปีนี้ทางจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานเทศกาลงานแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2560 อย่างยิ่งใหญ่ มีต้นเทียนพรรษาที่ส่งเข้าร่วมงานถึง 55 ต้น เป็นต้นเทียนแบบแกะสลักขนาดใหญ่ แบบติดพิมพ์ขนาดใหญ่ จำนวน 12 ต้น แบบแกะสลัก และ ติดพิมพ์ขนาดกลางจำนวน 6 ต้น และแบบแกะสลักและติดพิมพ์ขนาดเล็กอีก 18 ต้น ต้นเทียนโบราณอีก 6 ต้น
นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้มีการจัดทำขบวนเทียนเล่าเรื่องราวของทศชาติชาดก จำนวน 10 ตอนยาวติดต่อกัน โดยแต่ละขบวนต้นเทียนจะเล่าถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและศึกษาประวัติและคำสอนทางพุทธศาสนา
ขณะเดียวกัน ยังมีขบวนฟ้อนรำที่สวยงามจำนวน 20 ขบวน โดยขบวนฟ้อนรำขบวนแรกจะเป็นการชุดการแสดง "พุทธรักษา น้อมเกล้าถวายอาลัย" รำเพื่อ ถวายความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขบวนศิลปินอีสาน และ ศิลปินแห่งชาติ นักแสดงนักร้องของจังหวัดอุบลราชธานี และ ขบวนการฟ้อนรำที่แสดงเรื่องราววิถีอีสาน ฮีต 12 ครอง 14
ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาร่วมงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2560 โดยทางจังหวัดได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยในปีนี้มี ขบวนเทียนพรรษาของคุ้มวัดต่างๆ กว่า 50 ขบวน โดยขบวนเทียนพรรษาได้แห่ไปรอบเมืองนครราชสีมา และจะจอดขบวนรอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ส่วนภาคบ่ายจะมีการประกาศผลการแข่งขันขบวนเทียนพรรษาด้วย
โดยแต่ละคุ้มวัด ได้จัดขบวนแห่ ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละพื้นที่ สร้างสีสันให้กับงานประเพณีแห่เทียนพรรษาได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในปีนี้ ขบวนเทียนพรรษาของวัดใหม่สระประทุม อำเภอโชคชัย แชมป์ถ้วยพระราชทาน 10 สมัย เคลื่อนขบวนเป็นลำดับแรก และ วัดใหม่สระประทุม ได้แกะสลักเทียนพรรษาเป็นรูปพระอินทร์ทรงม้า และ มีสัตว์ป่าหิมพานจำนวนมากแวดล้อมขบวนเทียน กลางขบวนมีพระเมรุมาศจำลอง และ มีต้นเทียนเอก 3 ต้น ที่แกะสลักลวดลายเล่าเรื่องราวพระราชประวัติ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงทรงครองราชย์ปีสุดท้าย ด้านหลังขบวนมีช้าง 3 เศียร สุดอลังการ
ขบวนที่ 2 ตามด้วยคุ้มวัดในอำเภอโชคชัย ซึ่งแกะสลักเป็นรูปเทวดา นางฟ้า และ สัตว์ป่าหิมพาน แสดงออกถึงการส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่สวรรคาลัย นอกจากนั้นยังมีขบวนเทียนพรรษาอีกกว่า 50 ขบวน ที่ช่างเทียนพรรษาของแต่ละคุ้มวัดแกะสลักอย่างสวยงาม ตระการตา สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ่ายวานนี้ (เวลาประมาณ 16.00น. วันที่ 9 ก.ค.2560) นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมตรีเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ ร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาประจำปี 2560 โดยขบวนเริ่มจากบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ไปตามถนนสิงหนาทบำรุง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนขุนลุมประพาส ไปยังวัดจองคำพระอารามหลวง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อทำพิธีถวายเทียนพรรษา
ขณะเดียวกัน ชุมชน และคุ้มวัดต่าง ๆ ก็ได้นำเทียนพรรษา ไปถวาย วัดในเขตพื้นที่อีกด้วย
ที่จังหวัดราชบุรี ชาวบ้านสองฝั่งคลองในตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และ ตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม จัดขบวนแห่เทียนพรรษาและผ้าป่าด้วยรถซาเล้งหรือรถพ่วงข้างกว่า 200 คัน ไปถวายยังวัดดอนมะโนรา เนื่องในวันเข้าพรรษา ประจำปี 2560
โดยขบวนแห่นำด้วย คณะสิงโตทอง และ แตรวง แห่ไปตามถนนสายหลักภายในตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม เข้าสู่ถนนสายตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ก่อนจะตัดเข้าสู่ถนนเพชรเกษม สมุทรสงคราม – บางแพและตัดเข้าสู่ถนนชุมชนบ้านดอนมะโนรา เพื่อเข้าสู่วัดดอนมะโนรา โดยตลอดสองข้างทางที่ขบวนรถซาเล้งวิ่งผ่านได้มีชาวบ้านต่างก็ออกมายืนรอเพื่อร่วมกันทำบุญและถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก
เมื่อขบวนแห่เทียนพรรษา และผ้าป่าสามัคคีรถซาเล้ง เข้าสู่ภายในวัดดอนมะโนรา ได้แห่รอบพระอุโบสถหลวงพ่อโต
ที่จังหวัดกาญจนบุรี บรรยากาศขบวนประเพณีแห่เทียนพรรษาและเททองหล่อพระ (หลวงพ่อสุขสมหวัง) และทอดผ้าป่าสามัคคี ของชาวตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอบ่อพลอย เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนในพื้นที่ มาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ เป็นปีที่ 32 ในการสืบทอดประเพณีแห่เทียนพรรษา ที่เป็นเอกลักษณ์แสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีแสดงถึงความรักความสามัคคี และ การร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนกับวัดที่เข็มแข็งมาตลอดอย่างเห็นได้ชัดเจน
โดยในปีนี้ ชาวบ้านหนองกระทุ่มได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยขบวนได้เคลื่อนจากชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม เพื่อนำเทียนพรรษาไปถวายยังวัดหนองกระทุ่ม ขบวนมีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร และขบวนแห่เทียนพรรษา ครั้งนี้ได้ใช้ม้าทรงมาจาก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีคณะวัวเทียมเกวียน ขบวนการแสดงย้อนพุทธประวัติจากอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ขบวนแฟนตาซี ขบวนรถบุพผาชาติจากประชาชนทั่วไป ขบวนแตรวง และการแสดงจำนวนมาก
ส่วนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าที่ร้อยตรีสุพีร์พัฒน์ จองพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน จัดขึ้นงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ขึ้นระหว่าง วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม 2560
โดย ขบวนเริ่มจากบริเวณหน้าแขวงทางหลวงสุพรรณบุรี ก่อนจะเคลื่อนขบวนผ่านหอนาฬิกา ไปตามถนนมาลัยแมน และสิ้นสุดการปล่อยขบวนบริเวณทางแยกหน้าธนาคารกสิกรไทย จากนั้นเลี้ยวกลับไปที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
สำหรับเอกลักษณ์ ของขบวนเทียนแต่ละชุมชน จะเน้นเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว สำคัญใน 10 อำเภอ ของจังหวัดสุพรรณบุรี
ที่จังหวัดสมุทรสาคร นายวิรัตน์ ไชยสิทธิ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน ร่วมพิธีงานสืบสานประเพณีล่องแพแห่เทียนสืบสานประเพณีรำลึก 150 ปี คลองภาษีเจริญ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2560 และ เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี คลองภาษีเจริญ
โดยขบวนแพ มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ภายในแพได้อัญเชิญ พระพุทธรูปขนาดใหญ่มาประดิษฐานล่องไปตามแพด้วย ซึ่งขบวนได้เริ่มเคลื่อนจากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน ไปตามลำคลองภาษีเจริญ ตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตร
นอกจากนี้ภายในแพ ยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย ตลอดระยะทางที่แพขนาดใหญ่ล่องไปตามลำคลองภาษีเจริญ มีเรือแห่เทียนพรรษา จากชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมขบวน จำนวนมาก
ทั้งนี้ ขบวนเรือได้ สิ้นที่สุดที่บริเวณท่าน้ำวัดหนองพะอง จากนั้นก็เป็นการเชิญต้นเทียนขึ้นไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามโบราณประเพณีต่อไป
ปิดท้ายที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวตำบลกะเปียด อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันแห่เทียนพรรษา โดยชาวบ้านได้ใช้รถจักยานยนต์พ่วงข้าง ที่ใช้เพื่อบรรทุกน้ำยางพารา มาประดับตกแต่งให้มีสีสันสวยงาม เพื่อร่วมขบวนแห่เทียนพรรษา ไปถวายที่วัดในหมู่บ้าน
ชาวบ้าน บอกว่า สาเหตุที่นำรถจักรยานยนต์พ่วงข้างมาร่วมขบวนแห่เทียนเนื่องจาก เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคี ของชาวบ้านในพื้นที่ และอยากให้เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านตำบลกะเปียดต่อไป