จ.ลำปาง เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด 5 แห่ง ตามรายชื่อที่มีข่าวออกมา เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมหารือผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรรมการมหาเถรสมาคม 12 กรกฎาคมนี้ เพื่อเร่งสะสางปัญหาทุจริตให้จบโดยเร็ว
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ว่า ขณะนี้ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ปปป.) กำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ส่วนตนทำในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ซึ่งจะได้หารือถึงความคืบหน้ากับ พันตำรวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อีกครั้งในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะประชุมร่วมกับกรรมการมหาเถรสมาคม 3 รูป ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
พร้อมกันนี้ นายออมสิน บอกว่า อยากให้การทำงานเป็นไปด้วยความรอบคอบรวดเร็ว และ รัดกุม ที่สำคัญต้องเข้าตรวจสอบวัดอย่างเงียบๆ เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา
และ ขณะนี้ ผลการตรวจสอบยังไม่ออกมา แต่สังคมกลับพิพากษาไปแล้วว่า ใครผิด สุดท้ายแล้ว พระอาจจะไม่ได้ผิด แต่เป็น ฝ่ายฆราวาสผิดก็ได้ ทั้งนี้ได้กำชับ ผอ.พศ. ไปว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สามารถทำคู่ขนานไปพร้อมกันได้
นอกจากนี้ นายออมสิน กล่าวถึงการหารือ เรื่องการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดพระ ว่า ขณะนี้พระสงฆ์มีบัตรประจำตัวประชาชน ที่กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการทำอยู่ โดยถ่ายรูปพระและมีเลขประจำตัว 13 หลักเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากมีอยู่แล้ว ก็จะสามารถช่วยทุ่นงบประมาณไปได้ แต่จะเพิ่มเติม เป็นการแยกฐานข้อมูลเข้าไป นอกเหนือจากที่มีระบุในบัตรประชาชน เช่น ข้อมูลพระว่า บวชที่ไหน จำวัดที่ไหน บวชกี่พรรษา มีสมณศักดิ์เป็นอย่างไร
หากมีบัตรสมาร์ทการ์ดพระ จะช่วยลดคดีประเภทหนีมาบวชได้ เรื่องนี้หากผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบของมส. ก็จะได้จัดทำโครงการ และ เสนอของบประมาณ จากที่ประชุม ครม.ในเร็วๆนี้
ส่วนที่จังหวัดลำปาง หลังมีรายชื่อ 5 วัด ใน 3 อำเภอของจังหวัด เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอน คือ วัดวัฒนาราม วัดบ้านอ้อ วัดอุมลอง อำเภอสบปราบ วัดทุ่งต๋ำ อำเภอเสริมงาม และ วัดหาดปู่ด้าย อำเภอเกาะคา
ล่าสุด นายบุญเลิศ โสภา ผอ.พศ.จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า หลังมีการนำเสนอข่าว และ มีรายชื่อวัดต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไป ยอมรับว่า เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่จนถึงวันนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่เกิดความกระจ่าง ว่าเป็นอย่างไร จะต้องมีการสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดได้สั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด ตามคำสั่งของ ผอ.พศ. เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วยส่วนราชการของ จังหวัดลำปาง และ ฝ่ายสงฆ์ เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มี พศ.จังหวัดลำปาง เป็นเลขานุการ จะเริ่มสืบข้อเท็จจริงหลังวันเข้าพรรษา หรือ ช่วงสัปดาห์หน้า โดยคณะกรรมการจะไปพบกับเจ้าอาวาสวัดที่มีรายชื่อ หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เพื่อสืบข้อเท็จจริงเส้นทางทุจริตเงินทอนวัด
นายบุญเลิศ ยังบอกว่า ข่าวในทางลบเกี่ยวกับพระสงฆ์ หรือ วัด มีการนำเสนอออกมาเป็นระยะ และ มีประชาชนให้ความสนใจ และติดตามข่าวกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งสืบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,193 คน เรื่อง "เงินทอนกับความเลื่อมใสในพุทธศาสนา"
พบว่า ความเห็นของชาวพุทธ ต่อกรณีการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 57.7 เห็นว่า ไม่มีผลต่อการทำบุญ และคิดว่าจะบริจาคเหมือนเดิม เพราะทำบุญให้วัด
ขณะที่ร้อยละ 42.3 เห็นว่า มีผลต่อการทำบุญ ร้อยละ 25.0 ทำให้ต้องคิดก่อนตัดสินใจบริจาค รองลงมาร้อยละ 11.3 ทำให้ไม่อยากบริจาคให้แก่กิจกรรมใด ๆ ทางพุทธศาสนา และร้อยละ 6.0 ทำให้ต้องตรวจสอบวัดนั้น ๆ
เมื่อถามต่อว่า กรณีทุจริตเงินอุดหนุนวัด มีผลมาก - น้อยเพียงใด ต่อการทำให้ความศรัทธา หรือ เลื่อมใสในพุทธศาสนาลดลง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.7 เห็นว่า มีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 35.3 เห็นว่า มีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
ส่วนความเห็นต่อมาตรการ ที่ควรใช้เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางพุทธศาสนา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.6 อยากให้มีการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง รองลงมา ร้อยละ 32.1 อยากให้ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัดอย่างรัดกุม ร้อยละ 10.3 อยากให้ใช้ ม.44 ในการปฏิรูปพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.1 มีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ต่อหน่วยงานที่ดูแลพุทธศาสนาว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่ร้อยละ 33.9 มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด