"พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" ยืนยันยึดการทำงาน สูตร 2-3-4 เนื่องจากมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเตรียมประชุม คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ นัดแรกวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ หารือกรอบการทำงาน
พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกจะมีขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะมีการหารือถึงกรอบการทำงาน และแบ่งคณะกรรมการฯออกเป็นชุดคณะอนุกรรมการฯ ด้านต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการด้านองค์กร คณะอนุกรรมการด้านกระบวนการยุติธรรม คณะอนุกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายที่ดูเรื่องการบริหารบุคคล และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยขณะนี้ยังไม่ได้นำโมเดลใดมายึดในการดำเนินการ
ส่วนกรณีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์ขอให้ ทบทวนวิธีการทำงานจากที่แบ่งช่วงเวลา 2-3-4 เป็น 4-3-2 แทน พร้อมกับขอให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนร่างกฎหมายนั้น พลเอกบุญสร้าง ยืนยันว่าคณะกรรมการฯ จะแบ่งการทำงานเป็นช่วงเวลา 2-3-4 ตามที่ได้มีการแถลงรายละเอียดไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามตนเองและคณะกรรมการฯทุกคนตั้งใจทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ และเท่าที่ดูคณะกรรมการฯทุกคนก็เป็นคนดี ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคาดหวังมานาน
"สุริยะใส" ชี้ปฏิรูป ตร.เดิมพันสูงกว่าทุกครั้ง ทำไม่ได้ ปชช.หมดหวัง
ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คน จะถูกคาดหวังสูงจากประชาชน ที่สำคัญประเด็นการปฏิรูปตำรวจก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่สังคมอยากเห็น เดิมพันปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จึงสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา และถ้าครั้งนี้ทำไม่สำเร็จ ก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังได้อีก
ในขณะเดียวกัน กรอบเวลาที่เหลือ 8-9 เดือนก็ไม่น้อยจนเกินไปเพราะมีงานวิจัยมีข้อเสนอเดิมไว้มากมายอยู่แล้ว แต่จุดที่ต้องจับตาคือกระบวนการทำงานและการกำหนดประเด็นหรือการตั้งโจทย์พิจารณา เพราะถ้าออกแบบผิด หรือตั้งโจทย์ผิดก็เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปด้วย
โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีความขัดเจน รวมทั้งการรับฟังตำรวจชั้นผู้น้อยหรือชั้นประทวนก็ควรมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ส่วนการกำหนดประเด็นและเนื้อหาแนวทางที่ พลเอกประยุทธ์ ชี้แนะไว้ ก็ถือว่ามาถูกทาง คือการปฏิรูประดับโครงสร้าง สตช. เช่น การกระจายอำนาจให้ยึดโยงกับจังหวัดและท้องถิ่น การแยกอำนาจสอบสวนให้มีความเป็นอิสระน่าเชื่อถือ การพิจารณาอัตรานายพลที่มีมากเกินจำเป็น เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาใน สตช.
ทั้งนี้มองว่า เมื่อตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจจึงต้องสร้างแรงส่งให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย
"วิทยา" เสนอ "นายกฯ" ใช้ ม.44 เบรกโยกย้าย ตร. จี้สางปัญหาเก่าให้เสร็จ
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแกนนำ กปปส. กล่าวว่า เห็นด้วยกับสูตร 2-3-4 คือ 2 เดือนแรกต้องคุยเรื่องปัญหาทั้งหมด 3 เดือนต้องอ่านงานวิจัยเก่าๆ ให้หมด และ 4 เดือนต้องยกร่างกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้เสร็จ และรับฟังความคิดเห็น
รวมถึงการที่ พลเอกบุญสร้าง ยืนยันว่า การซื้อขายตำแหน่งจะต้องหมดไปนั้น ตนเองก็เห็นด้วย เพราะการซื้อขายตำแหน่งมีอยู่จริง และอยากให้ปัญหานี้หมดไป แต่คณะกรรมการฯ จะต้องปูทางให้ติด รวมถึงอยากให้เยียวยาคนที่โดนกลั่นแกล้งด้วย เพราะ 2 ปีที่ผ่านพบว่า มีข้าราชการตำรวจไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 400-500 เรื่อง แต่ สตช.ก็ยกเรื่องทั้งหมด
ดังนั้นจึงอยากขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ไว้ก่อน เพื่อหยุดข้อครหาและเคลียร์ของเก่าให้จบ ก่อนที่จะทำเรื่องใหม่
ส่วนโครงสร้าง สตช.เห็นว่าควรกลับไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม เหมือนตำรวจจังหวัด ขณะที่งานสอบสวนควรให้หน่วยงานต่างๆ ตั้งกลุ่มงานสอบสวนของตัวเอง เช่น สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
ส่วน สตช.ควรสอบสวนเฉพาะคดีอาญา เรื่องความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น
"องอาจ" ชง 3 ข้อปฏิรูป ตร.แก้รับผลประโยชน์ เร่งทำคดีรวดเร็ว เป็นธรรม
ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตำรวจ เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ประชาชนจึงสัมผัสได้ถึงการทำงานในแง่ลบหลากหลายรูปแบบ รวมถึงความรู้สึกรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอฝากคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหาของตำรวจ เพื่อทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
โดยคำนึงถึงการแก้ไขให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ คือ 1. ละเว้นการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ 2. อำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และ3. ดำเนินการให้คดีความต่างๆ เป็นไปอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม
ทั้งนี้ควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเป็นตำรวจของประชาชนเพื่อประชาชน มากกว่าทำงานเพื่อให้เจ้านายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติพึงพอใจ พร้อมขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการฯแก้ไขปัญหาของตำรวจให้ได้ผลอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของประชาชน และความยุติธรรมในการใช้ชีวิตในสังคมที่เป็นธรรมอย่างมีความสุข
"ดุสิตโพล"ระบุประชาชน จี้ปฏิรูปตร. ปม คอร์รัปชั่น รับส่วย สินบน
ไปดูผลสำรวจ จากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ถึงประเด็น "ปฎิรูปตำรวจ”ในทัศนะของประชาชน" หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 36 คน ทำให้หลายฝ่ายจับตาการปฏิรูปครั้งนี้จะดีขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการวางหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้าย ที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้เป็นงานเร่งด่วนต้องเสร็จภายในปีนี้
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร กับการปฏิรูปตำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.45 เห็นควรให้ปฏิรูป เพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน และ ร้อยละ 72.18 การปฏิรูปจะช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และภาพลักษณ์ดีขึ้น
เมื่อถามว่าสำหรับสิ่งที่เป็นปัญหา-อุปสรรคของตำรวจที่ประชาชนอยากให้ปฏิรูป ร้อยละ 81.98 ระบุว่า ควรเร่งแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น รับส่วย สินบน รองลงมาร้อยละ 74.77 ใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน คนจนถูกจับ คนรวยพ้นคุก และ ร้อยละ 65.43 การซื้อขายตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้าย
ขณะที่ประชาชนร้อยละ 38.73 คาดหวังว่าจะปฏิรูปสำเร็จ เพราะรัฐบาลคสช.ให้ความสำคัญ มีอำนาจเด็ดขาด คงจะดำเนินการอย่างจริงจัง เห็นแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา และร้อยละ 36.29 คาดว่าน่าจะไม่สำเร็จ เพราะ ตำรวจมีระบบโครงสร้างแบบรวบอำนาจ มีระบบเส้นสาย
เมื่อถามว่าสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ร้อยละ 63.59 ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ อยากเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ร้อยละ 60.44 ปรับปรุงภาพลักษณ์ตำรวจให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และ ร้อยละ 56.56 ดูแลตำรวจทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียมกัน