"นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เตรียมยื่นหนังสือร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66 เมื่อปี 2550 จนนำไปสู่การออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ หลังตรวจสอบพบว่า ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้มีผลกระทบกับคดีที่กำลังพิจารณาของนักการเมืองหลายคดี รวมถึง คดีจำนำข้าวด้วย
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกฎหมายในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีกฎหมายประมาณ 200 ฉบับที่ตราโดยองค์ประชุมที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง รวมถึง กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 66 มีกระบวนการตราที่ไม่ชอบ
โดยมาตรา 66 นี้ถูกแก้ไขโดยผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ขณะนั้น สนช. มีสมาชิกทั้งหมด 241 คน องค์ประชุมของ สนช. จะต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 121 คน แต่การประชุมในครั้งนี้ มีสมาชิกของ สนช. อยู่ในที่ประชุมเพียง 111 คน
ดังนั้นกระบวนการตรากฎหมายจึงไม่ชอบ แต่ก็ไม่มีการทักท้วงจาก สนช. หรือนายกฯ ในขณะนั้นแต่อย่างใด จนร่างกฎหมายมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในเดือน พฤษภาคม 2550
ซึ่งการที่ ป.ป.ช. ใช้มาตรา 66 ที่แก้ไขใหม่ ไปทำการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหลายคดีกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นคดีใดที่ไม่ผู้เสียหายกล่าวหา ย่อมทำให้การไต่สวนและชี้มูลของ ป.ป.ช. เป็นการไม่ชอบ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผลต่อคดีสำคัญที่กำลังพิจารณาหลายคดี เช่น คดีสลายการชุมนุม คดีระบายข้าวจีทูจี คดีจำนำข้าว ซึ่งศาลหรือคู่ความในคดีสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยเฉพาะจำเลยในคดีใดที่ทราบเรื่องนี้แล้ว ก็ควรต้องรีบยื่นคำร้องพร้อมเหตุผล เพื่อขอให้ศาลรอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมาย ป.ป.ช. ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 66 นั้นตราโดยไม่ชอบ และต้องสิ้นผลไปโดยเร็ว
ทั้งนี้ตนเองจะไปยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้เ พื่อดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็ว