"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ยืนยัน กองทัพอากาศจำเป็นต้องซื้อเครื่องบินขับไล่ลำใหม่ ฝึกนักบิน และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น พร้อมระบุ งบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณด้านการเกษตร เป็นคนละส่วนกัน ขณะที่ "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" ยืนยันการจัดซื้อ โปร่งใส

 

"พล.อ.ประวิตร" ยัน ทอ.จัดซื้อเครื่องบินโปร่งใส

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ได้รายงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ แบบ ที-50 ทีเอช (T-50TH) ในระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ ของกองทัพอากาศวงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่อนุมัติหลักการที่กองทัพอากาศเสนอจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ ที-50 ทีเอช (T-50TH) จำนวน 16 ลำ ในรูปแบบการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี

โดยใช้งบประมานผูกพัน 3 ปี เพื่อใช้ทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่น แอล39 (L39) ที่ใช้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งในส่วนของการจัดซื้อระยะที่ 3 อีก 4 ลำ คาดจะดำเนินการหลังปี 2563

ทั้งนี้ยืนยันว่าการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ดังกล่าวมีความโปร่งใส และกองทัพอากาศได้เตรียมเงินเอาไว้แล้ว

 

"นายกฯ"แจง ทอ.จำเป็นต้องซื้อเครื่องฝึกบินขับไล่

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวว่า ขอให้เห็นใจนักบินที่ต้องฝึกบินด้วย เพราะนักบินใช้เครื่องบิน L-39 ซึ่งไอพ่นหมดอายุแล้ว หากเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น หรือนักบินได้รับการฝึกมาไม่ดี เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา จะเสียมากกว่าเดิม

สำหรับวิธีการจัดซื้อ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา จึงได้จัดซื้อมาจากเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการผูกมัดกับใครทั้งสิ้น  ส่วนเรื่องทุจริตหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้

พร้อมขอให้เข้าใจตรงกัน ว่า รัฐบาลไม่ได้นำงบประมาณไปกระจุกตัวอยู่เพียงเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างที่พูดถึงกัน ในภาคเกษตรทางรัฐบาลเอง ก็มีการอนุมัติงบประมาณเฉลี่ย 2-3 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ งบประมาณของภาคส่วนใดก็เป็นของส่วนนั้น ไม่มีการนำมาแทนที่กันและกัน

 

"นายกฯ" ยัน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่มีเสียเปรียบ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ –หนองคาย นายกฯ กล่าวว่า เป็นโครงการที่รัฐบาล จำเป็นต้องทำในเรื่องความเชื่อมโยง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย ถือว่าเป็นสายแรกของไทย ที่ตกลงกันเป็นความร่วมมือไทย-จีน ที่เป็นข้อตกลงกันมานานแล้ว โดยไทยจะนำเอาเทคโนโลยีของจีนมาร่วมก่อสร้าง ไม่ใช่ให้บริษัทจากจีนมาบริการ เพื่อป้องกันการผูกขาด รวมถึงจะใช้ส่วนประกอบของประเทศไทยให้มากที่สุด ส่งคนไทยไปเรียนรู้เทคนิคต่างๆจากจีน เพื่อจะควบคุมเองในอนาคต ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้ตกลงกันแล้ว และเราจะได้ประโยชน์ในวันข้างหน้าอย่างเต็มที่

สำหรับการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่หนึ่งช่วงกรุงเทพฯ –โคราช ที่ต้องสร้างให้เสร็จในปี 2564 เพราะไม่มีปัญหาในการทำประชาวิจารณ์ เวนคืนที่ดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า ส่วนระยะที่สอง คือช่วงโคราช – หนองคาย

"พล.อ.ประวิตร" ยัน ทอ.จัดซื้อเครื่องบินโปร่งใส