วันนี้ (13ก.ค.) ที่ประชุมสนช.เตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยวางหลักการ หากจำเลยหนีคดี ไม่ให้นับรวมอายุความ ปหากจำเลยหนีคดี ก่อนฟ้อง ให้ศาลรับฟ้องได้ทันที ขณะเดียวกันวันนี้ (13 ก.ค.) สนช.เตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายกกต.ด้วย

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (13ก.ค.) ที่ประชุมสนช.จะมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายกกต.หลังจากที่ประชุมวิปสนช.รับทราบมติของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายที่ยืนยันว่า ข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นของกกต.ไม่ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ หากไม่เห็นชอบต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมไม่มีการแก้ไขร่างกฎหมาย โดยยืนยันตามร่างเดิมที่สนช.เคยให้ความเห็นชอบก่อนหน้านี้

สนช.เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายอาญานักการเมือง

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (13ก.ค) ที่ประชุมสนช.จะมีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากร่างที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอมายังสนช.

อาทิ หมวด 2 ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มบทบัญญัติมาตราใหม่ คือ มาตรา 24/1 โดยกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

กรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล โดยเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้ได้ แม้จะผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลก็ตาม

และกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยแต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความดำเนินการแทนตนได้

กรธ.ยืนยันไม่ขัดแย้งสนช.ปมไพรมารีโหวต

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายพรรคเมือง นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. เปิดเผยว่า กรธ.ได้ส่งความเห็นแย้งไปว่าบทบัญญัติที่สนช.ให้ความเห็นชอบ มีบางส่วนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย โดยยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับ สนช. ที่เห็นควรใช้ระบบไพรมารีโหวต ในการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแต่ต้องการให้ระบบนี้มีความสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจาก พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะกรธ.เห็นว่าบางเรื่องยังไม่สมบูรณ์

สนช.เตรียมผ่านร่างกฎหมายจับนักการเมืองทุจริต