นักการเมือง ออกมาแสดงความเห็น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และ ให้พิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ ขัดหลักสากล-ไม่เสมอภาค แนะ ควรเพิ่มบทลงโทษให้กับข้าราชการด้วย เพราะถือเป็นการร่วมกันทุจริต มากกว่ามุ่งเล่นงานนักการเมืองเพียงอย่างเดียว

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.)กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ ว่า ต้องถามย้อนกลับไปว่า การระบุให้กฎหมายไม่มีอายุความและให้สืบพยานลับหลังได้ สอดคล้องกับหลักสากลหรือไม่ แล้วเหตุใดคนออกกฎหมายถึงมาไล่ล่าแต่นักการเมือง คนที่โกงมีแต่นักการเมืองหรืออย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงทุกสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี แล้วทำไมไม่มีกฎหมายไปไล่ล่าคนกลุ่มอื่นบ้าง เช่น ข้าราชการและเอกชน

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายให้น่ากลัวเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่าการทุจริตจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ควรให้ความรู้แก่สังคมถึงผลเสียรุนแรงของการทุจริต

เช่นเดียวกับ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เห็นว่า การออกกฎหมายควรกวดขันใช้กับข้าราชการด้วยเช่นกัน เนื่องจาก หลักการบริหารราชการประเทศไทย ผู้ใช้งบประมาณคือ ข้าราชการ ฝ่ายการเมืองเพียงแต่เป็นผู้จัดสรรงบประมาณมาให้เท่านั้น การปรับแก้กวดขัดการดำเนินคดีกับนักการเมืองนั้นเห็นด้วย แต่ต้องไปกวดขันในส่วนของข้าราชการด้วย จะมุ่งเน้นแต่ฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการทุจริตต้องมีหลายฝ่ายร่วมมือกันไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทุจริตได้

ส่วนตัวจึงเสนอให้ปรับแก้กฎหมาย ให้ข้าราชการตั้งแต่ ซี 3 ขึ้นไป ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เช่นเดียวกับนักการเมือง หากมีใครมาขอให้ข้าราชการร่วมมือทุจริตจะได้กลัว และจะช่วยป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ และ ไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี เพราะไม่เช่นนั้นคนที่ทุจริต ก็จะหนีคดีหมด

รวมถึงข้าราชการที่ทุจริตด้วย แม้จะไม่เข้าข่าย ก็ควรแก้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในระบบเดียวกันกับนักการเมือง เพราะปัญหาการทุจริตไม่ใช่เกิดจากนักการเมืองอย่างเดียว ถ้าไม่ร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการคงทำไม่ได้

"เสรี" ระบุ กม.อาญานักการเมือง ไม่ขัดหลักสากล

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กล่าวถึงกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์กรณี สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า การออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อใช้ในการพิจารณาคดีเช่นเดียวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลทั่วๆไป เป็นเรื่องที่สามารทำได้ ไม่ใช่เป็นออกกฎหมายเพื่อบทลงโทษ หรือไปเพิ่มโทษ ให้หนักขึ้น หรือการกระทำที่ไม่ผิดแล้วให้กลายเป็นผิดทำไม่ได้

ร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดี ที่มีปัญหาของคดีอาญานักการเมืองทั้งในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ผลของระยะเวลาในการพิจารณา ซึ่งเป็นปัญหาในขณะนี้

ทั้งนี้เห็นว่า ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิหรือขัดต่อหลักสากล เพราะเป็นการเลือกวิธีกำหนดกติกาที่เหมาะกับสังคมของ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถจัดการกับทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าการออกฎหมาย เช่นนี้ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งใคร เพราะไม่ส่งผลต่อคดีที่ขาดไปแล้ว แต่มีผลต่อคดีที่จำเลยหลบหนีศาล ตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นแค่แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาคดีไม่ให้สะดุด แต่หากใครสงสัยว่าขัดต่อหลักกฎหมาย หลักสิทธิพลเมืองอะไรก็สามารถใช่ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

"พีระศักดิ์" ชี้ กม.ลูกคดีอาญานักการเมือง ยังไม่สรุปย้อนหลังหรือไม่ แต่คดีสิ้นสุดแล้วรื้อไม่ได้

ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีผลย้อนหลังในเรื่องของกระบวนการพิจารณา ไม่ใช่การย้อนสาระบัญญัติเกี่ยวกับโทษทางอาญา

โดยจะมีผลย้อนหลังถึงคดีที่เกิดก่อนกฎหมายประกาศใช้ ดังนั้น หากคดีใดที่มีการสอบสวน และศาลสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดี หรือคดีที่ถูกจำหน่ายออกไปเนื่องจากจำเลยหลบหนี ก็สามารถดำเนินการไต่สวนลับหลังจำเลยได้ แต่สำหรับคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว จะไม่สามารถรื้อขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้

ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ว่าจะให้วิธีพิจารณาในกฎหมายมีผลย้อนหลัง หรือให้มีความชัดเจนก่อน

นักการเมืองโวย สนช.เขียนกฏหมายนักการเมืองไม่อิงหลักสากล