“นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ออกมาปฏิเสธกระแสข่าว เตรียมปรับแก้กฎหมาย เพิ่มโทษพรรคการเมืองทำผิดขั้นตอนไพรมารีโหวตลงโทษถึงขั้นยุบพรรค ชี้แจงหากทำผิดแต่ลงโทษห้ามลงเลือกตั้ง ไม่ถึงขั้นยุบพรรค ด้าน กกต. เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย กกต. 2 ประเด็นในวันนี้ (21 ก.ค.)
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 ก.ค.) กรรมการการเลือกตั้งจะนำ 2 ประเด็น ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดย 2 ประเด็นที่จะยื่นให้ศาลตีความ คือ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ประเด็นการตัดอำนาจ กกต.แต่ละคนระงับยับยั้งการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตในหน่วยเลือกตั้ง และ มาตรา 27 เรื่องการที่ กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ต้องมอบให้ส่วนราชการ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน โดยไม่มีประเด็นเซ็ตซีโร่ กกต. ชุดปัจจุบันแต่อย่างใด
การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ เชื่อว่า ไม่ได้ทำให้ โรดแมปการเลือกตั้งเปลี่ยนไป เพราะยังมีระยะเวลาการดำเนินการอีกมาก เนื่องจากยังเป็นช่วงต้นของการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสนช.เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำความเห็นโต้แย้งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ใน 5 ประเด็น
โดยกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนจากสนช. 5 คน อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ตัวแทนจากกรธ. 5 คน อาทิ นายอุดม รัฐอมฤต นายนรชิต สิงหเสนี และตัวแทน กกต. อีก 1 คน คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการกำหนดกรอบเวลาพิจารณาทบทวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
ขณะเดียวกัน วานนี้ (20 ก.ค.) มีกระแสข่าวว่า ในการหารือนอกรอบระหว่างตัวแทน สนช. กับตัวแทนของ กรธ. ได้ข้อสรุปเบื้องต้นให้ปรับเนื้อหาร่างกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ โดยเปลี่ยนให้เพิ่มบทลงโทษกรณีกระทำผิดในการจัดทำไพรมารีโหวต โดยมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
โดยนายมีชัย ชี้แจงว่า ในการจัดทำไพรมารีโหวต ทางพรรคต้องตรวจสอบ เพราะหากเสนอรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้งเป็นเท็จ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ แต่โทษจะไม่แรงถึงขั้นยุบพรรค แต่อาจจะถูกตัดการสิทธิเลือกตั้งระยะหนึ่ง และเรื่องไพรมารีโหวต ต้องให้พรรคดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องภายในพรรค หากให้ กกต. ดำเนินการ เท่ากับให้กกต.เข้าไปวุ่นวายภายในพรรคการเมือง
สำหรับเนื้อหาที่จะแก้ไข มีหลักการเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ใช่ข้อยุติ ดังนั้นต้องรอที่ประชุมกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาก่อน