ตำรวจและทหาร จ.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมให้ความช่วยเหลือ ชาวนาถูกนายทุนหลอกให้นำโฉนดบ้านและที่นาไปขายฝาก จนทำให้ถูกยึดทรัพย์สิน
จากกรณี ชาวนาในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 6 คน ถูกหญิง อายุ 52 ปี เข้ามาตีสนิทเมื่อช่วงปี 2558 ก่อนหลอกให้นำโฉนดบ้าน และที่นา ไปขายฝากกับนายทุนคนดังกล่าว โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนซื้อปุ๋ยมาขายแล้วจะแบ่งปันผลกำไรให้
ซึ่งแต่ละคนนำโฉนดไปขายฝากกับนายทุน รายละตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 3 ล้าน 5 แสนบาท รวมเนื้อที่กว่า 100 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 10 ล้านบาท และล่าสุดชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อ ก็ได้รับหนังสือจากสำนักกฎหมายว่า ให้ขนย้ายทรัพย์สิน ออกจากที่นา และบ้าน ภายในเดือนมิถุนายน เพราะทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของนายทุน โดยชอบตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งนายทุนยังนำป้ายมาติดประกาศขายที่ดังกล่าวด้วย
ล่าสุดเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ และฝ่ายปกครอง ได้ลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงกับ ชาวนาผู้เสียหาย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ
จากการลงพื้นที่ ชาวนาทั้งหมด ให้ข้อมูลตรงกันว่า ถูกนายทุนคนดังกล่าว หลอกนำโฉนดไปขายและขายฝาก แต่จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า มีการทำนิติกรรมการซื้อขายและขายฝากที่ดินที่สำนักงานที่ดินถูกต้อง ทำให้กรรมการสิทธิการถือครองที่ดินถูกเปลี่ยนมือไป ตามกฎหมาย
นางลาณี ทัดจะโป๊ะ อายุ 57 ปี ชาวนาที่ตกเป็นเหยื่อ เปิดเผยว่า หลังถูกหลอกให้นำโฉดที่นา 19 ไร่ 3 งาน ล่าสุดมีการติดป้ายประกาศขาย ทำให้ไม่กล้าเข้าไปทำนา และที่ดินของตัวเอง จึงอยากวิงวอนให้หาแนวทางช่วยเหลือด้วย เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ขณะนี้ไม่มีที่อยู่อาศัย และไม่มีที่ทำกินด้วย
ด้าน นายบรรทม เทพหลัว ปลัดอำเภองานศูนย์ดำรงธรรม อ.ลำปลายมาศ ได้กล่าวถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกหลอกว่า ทางอำเภอ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยจะให้ชาวนาที่ถูกหลอก ยื่นกู้เงินจากกองทุนหมุนเวียน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท ถึงสูงสุดไม่เกิน 2 ล้าน 5 แสนบาท ระยะเวลาผ่อนชำระคืน 20 ปี เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินที่ถูกหลอกไปขายให้นายทุนคืน
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ แต่มีบางรายที่ยอดเงินเกินจำนวนที่ให้กู้ ซึ่งจะเรียกทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง ส่วนกรณีโฉนดที่ดินได้ถูกเปลี่ยนกรรมการสิทธิการถือครองไปแล้วนั้น หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะทำกินในที่ดินดังกล่าว ทางอำเภอจะประสานพูดคุยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อขอเช่าทำกินต่อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป