ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนไม่พบความผิดปกติ ยืนยันมีความโปร่งใส ไม่ขัดต่อพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงกรณีที่สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้วินิจฉัยว่า การจัดซื้อเรือด้ำเอส 26T (S-26T) จากประเทศจีน ของกองทัพเรือ 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาทนั้น ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 เพราะครม.เห็นชอบโดยไม่ได้ขอความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

โดยนาย รักษเกชา ระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยุติการพิจารณากรณีดังกล่าว เพราะการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงไม่ต้องนำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้จากการที่ผู้ตรวจฯได้ขอข้อมูลจากกองทัพเรือ พบว่ากองทัพเรือได้เสนอการจัดหาเรือดำน้ำไว้ในคำของบประมาณของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยบรรจุรายการโครงการจัดหาเรือดำน้ำระยะที่ 1 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2560-2566

ซึ่งเป็นไปตามภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบและยุทธศาสตร์กองทัพเรือ สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ครม.ได้มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ถือว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2560 ใช้บังคับ จึงถือว่า ชอบด้วยพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ส่วนมติครม.วันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นการรับทราบและเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการเท่านั้น

นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มองว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำถือเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสนช.ก่อนหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ คล้ายกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีผลผูกพันต่ออาณาเขตหรืออธิปไตย กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

มติผู้ตรวจการฯ ยืนยันซื้อเรือดำน้ำจีนโปร่งใส-ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ