กรมสุขภาพจิต ห่วงคนไทยใช้โซเชียลในการแสดง "ความรุนแรง" มากขึ้น ทั้งโอ้อวด อิจฉา โกรธ อคติ เกลียดชัง ทั้งจาก"เฮท สปีช" (Hate Speech) และความรุนแรงเรื่องส่วนตัว
นาวาตรี นายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง "สื่อ" ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อโลกออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างชัดเจน จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมต่างๆ มากมาย ว่า
เนื่องจากสื่อประเภทดังกล่าวในปัจจุบัน ผู้ใช้ไม่มีตัวตนหรือมีตัวตนซ่อนเร้นในโลกออนไลน์ จึงทำให้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น หรือแสดง "ความรุนแรง" ออกมามากขึ้น ทั้งความโกรธ ความโอ้อวด ความอิจฉา อคติ และความเกลียดชัง จนนำไปสู่ความขัดแย้งบนโลกออนไลน์
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ในการป้องกัน คือ การรู้เท่าทันสื่อเข้าใจสภาพของสื่อออนไลน์ ว่าเป็นสังคมที่มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ผู้ใช้จึงควรมีสติทุกครั้งในการสื่อสาร หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ บนโลกออนไลน์ รวมทั้งตรวจสอบที่มาของข้อมูล อย่าส่งต่อข้อมูลที่ไม่เกิดประโยชน์ ขอให้คิดทุกครั้ง ก่อนโพสต์ ก่อนไลค์ ก่อนแชร์
ขณะที่นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมยุคดิจิตอล ในทางลบ ไม่ใช่แค่การสร้างการหลอกลวง แต่กลับกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังร่วมด้วย
ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ความรุนแรงบนโลกออนไลน์จะมีทั้ง "Hate Speech" คือ การสร้างความแตกต่างที่มีผลต่อยอดไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น เรื่องของเพศภาพ เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง คนพิการ และ Blame Speech(เบลม สปีช) คือการสร้างความรุนแรงในเรื่องส่วนตัว เช่น กรณี "กราบรถ"
ดังนั้น การสร้างพลเมืองสื่อดิจิทัล จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องประกอบไปด้วย การไม่ขยายความรุนแรงจาก "Hate Speech" โดย ใช้หลัก "2 ไม่ 1 เตือน" ได้แก่ ไม่สื่อสารทางลบ ไม่ส่งต่อ และเตือนด้วยถ้อยคำที่สุภาพ รวมทั้งให้ข้อมูลที่น่ารับฟัง
ส่วน Blame Speech นั้น ให้ใช้หลักเดินหน้า 3 What ได้แก่ What So What และ What Next หมายถึง อย่าหยุดอยู่แค่ "What" เช่น หากเกิดอะไรขึ้นแบบที่เรียกว่าดรามา ทุกวันนี้เรามักจะสนใจอยู่เพียงตัว "What" หรือตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เราจึงควรก้าวไปสู่ "So What" ในการเข้าใจสาเหตุว่าทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น เพราะสาเหตุเหล่านั้นอาจเกิดกับเราได้ทุกคน และท้ายสุด "What Next" คือ หาแนวทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและสังคม