เจ้าหน้าที่บุกภัตตาคารอาหารจีน ย่านวังทองหลาง หลังสืบทราบว่า มีการลักลอบขายอาหารที่ทำจากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบของกลางจำนวนมากทั้ง งู ตะพาบ และ เต่า นอกจากนี้ ยังเคยถูกจับกุมไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่แอบมาเปิดใหม่
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 / ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจค้นภัตตาคารอาหารจีนชื่อดังแห่งหนึ่ง ในเขตวังทองหลาง หลังได้รับแจ้งว่า เป็นแหล่งลักลอบขายอาหารที่ปรุงจากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง
โดยภัตตาคารดังกล่าว อยู่ริมถนนศรีวรา ชื่อ "ภัตตาคาร หลวง โตโต" ชั้นล่างเป็นห้องอาหารและแคชเชียร์ และห้องครัว บนโต๊ะมีงูเห่า ถูกปรุงเป็นอาหารวางเตรียมไว้รอลูกค้าจำนวน 2 จาน
ชั้น 2 แบ่งเป็นห้องอาหารอีก 2 ห้อง มีโหลสุราดอง ภายในบรรจุหัวงูชนิดต่างๆ อยู่ 2 โหล ด้านหลังเป็นห้องชำแหละ มีบ่อตะพาบ 2 บ่อ บ่องูอีก 2 บ่อ ซึ่งจากการตรวจสอบพบงูสิงห์ 2 ตัว / ตะพาบไทย 21 ตัว / เต่าบัว 1 ตัว และซากตัวนิ่ม 1 ตัว
เบื้องต้น นายจะมู้ แซ่หยี่ ผู้ดูแลร้าน ให้การอ้างว่า ร้านนี้เปิดมานานกว่า 8 ปี ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นชาวจีน ถ้าเป็นลูกค้าประจำ ก็จะมีการโทรมาสั่งไว้ก่อน แล้วทางร้านก็จะทำอาหารเตรียมไว้ให้ แต่หากเป็นลูกค้าขาจร เมื่อมาถึงร้าน ก็จะเข้ามาสั่งที่ร้าน โดยจะมีเมนูอาหารให้ลูกค้าสั่งตามต้องการ ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ก็จะเป็นงู และตะพาบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าจับกุมร้านดังกล่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา แต่เจ้าของกลับลักลอบแอบมาเปิดใหม่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาตรวจสอบ และจับกุมอีกครั้ง
ส่วนที่จังหวัดชลบุรี พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม / เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดชลบุรี / ตำรวจท่องเที่ยวชลบุรี / และ กำลังทหาร / เข้าตรวจค้น และจับกุมร้านอาหาร ลักลอบจำหน่ายรังนกปลอม ให้กับนักท่องเที่ยวทัวร์จีนและผู้บริโภค ในพื้นที่เมืองพัทยาทั้งหมด 9 จุด พบผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทั้งหมด 5 คน
โดยรังนักปลอม ที่พบนั้นส่วนใหญ่ทำจาก "ยางไม้ยาคารา" หรือ "ยางคารากัม" ด้วยการนำมาตากแห้ง ก่อนนำไปแช่น้ำให้บวมเป็นก้อน มีลักษณะคล้ายรังนก จากนั้น จึงนำน้ำตาลมาผสม แล้วแต่สูตรของผู้ผลิต
แม้ว่า จากการตรวจสอบ จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่อย่างใด เป็นเพียงอาหารในรูปแบบวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง สำหรับเพิ่มความยืดหยุ่นในอาหารเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถือได้ว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้ได้รับความเสียหายเชิงธุรกิจในภาพรวมของประเทศ กว่า 4 พันล้านบาทต่อปี และยังเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคด้วย