พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ประสานเสียงเรียกร้องให้ กรธ. รับฟังเสียงของประชาชน หลังผลโพลส่วนใหญ่ระบุไม่เห็นด้วยกับระบบผู้สมัคร ส.ส. แยกเบอร์เป็นรายเขต ชี้การเลือกตั้งควรเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ไม่ใช่เพิ่มความยุ่งยาก ด้าน กรธ. ย้ำหลักการจับเบอร์ผู้สมัครรายเขต ช่วยป้องกันทำให้ซื้อเสียงได้ยากขึ้น

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงคัดค้านแนวคิดการให้ผู้สมัคร ส.ส.จับเบอร์แยกเป็นรายเขต เพราะเกรงว่า จะทำใหประชาชนสับสนว่า หลักการนี้ กรธ.ได้พูดคุยกันตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า การใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศง่ายต่อการซื้อเสียง ดังนั้นหากมีวิธีอะไรที่จะมาป้องกันการทุจริตได้ ไม่ว่า จะมากหรือน้อย กรธ.ก็จะพยายามทำ

แม้จะมีคนออกมาบอกว่า ไม่ว่า จะใช้เลขเบอร์เดียวกัน หรือ จะใช้เลขหลายเบอร์ก็ยังมีการซื้อเสียงอยู่ดีก็ตาม เพราะถ้าใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ แล้วทำให้การซื้อเสียงทำได้ง่าย ทางกรธ.ก็จะพยายามป้องกัน ซึ่งก่อนการใช้สิทธิ์
เลือกตั้งของประชาชนในอนาคต จะต้องคิด ไตร่ตรองเป็นอย่างดีว่าจะเลือกบุคคลใดหรือพรรคใด

นายอุดม ยังกล่าวถึงการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมกรธ.ได้พูดคุยกันแล้วว่า กรธ.ไม่จำเป็นต้องส่งข้อโต้แย้ง เพื่อให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเพื่อทบทวนร่างกฎหมายผู้ตรวจฯอีกครั้งอีกครั้ง

แม้ กรธ.อาจจะมีข้อทักท้วงว่า ร่างกฎหมายอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็ตาม (กรณีไม่มีการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจฯ เหมือนองค์กรอิสระอื่น) แต่เมื่อสมาชิก สนช. 34 คน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้อยู่ต่อจนครบวาระว่า จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ก็ควรรอความชัดเจนจากศาล ซึ่งจะถือเป็นข้อยุติสำหรับทุกฝ่าย

ด้านนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.จับเบอร์แยกเป็นรายเขตว่า กรธ.พยายามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยบอกว่าเป็นความก้าวหน้า แต่แท้จริง คือ การถอยหลังไปถึง 20 ปี ถือว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้ กรธ.ควรเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่เพิ่มอุปสรรค

เพราะบัตรเลือกตั้งผู้สมัครที่ใช้เบอร์ไม่เหมือนกันทั้งที่อยู่ในพรรคเดียวกัน จะเพิ่มความสับสนแก่ประชาชนอย่างมาก เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก ยิ่งจะทำให้ยุ่งกันไปใหญ่ ขณะที่ กกต.ก็จะทำงานลำบาก

นายอำนาย ยังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการ เมืองได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่า ปัจจุบันประชาชนก็ให้ความร่วมมือกับคสช.เป็นอย่างดี และรับฟังคสช.พูดมาโดยตลอด  แต่ขอถามกลับว่า คสช.ฟังเสียงประชาชนบ้างหรือไม่ เพราะวันนี้ประชาชนอยากเลือกตั้ง แต่คสช.กลับไม่รับฟัง

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรปลดล็อกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะขณะนี้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนว่า พรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อม ปฏิบัติตามกฎติกาใหม่ รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคและประชาชน

ดังนั้นสาเหตุที่พรรคการเมืองขอให้รัฐบาลปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น เป็นเรื่องมีเหตุผล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมีเจตนาไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

นายสาธิต ยังกล่าวถึงผลสำรวจความเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพลที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียวว่า ปกติกรธ.จะฟังเสียงประชาชน และเมื่อประชาชนต้องการให้คงไว้ซึ่งระบบเลือกตั้งเบอร์เดียวทั้งประเทศตามเดิม ก็ควรรับฟัง เพราะกฎหมายอะไรที่คนใช้ไม่เห็นชอบด้วยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นกรธ.ควรจะนึกถึงข้อนี้ด้วย

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวกังวลว่าหาก กรธ.ยังยึดความเห็นของตัวเองเป็นหลัก จะยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อีกทั้งจะทำให้พรรคการเมืองหาเสียงยาก เมื่อประเทศไทยเลือกที่จะให้ผู้สมัครลงเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือต้องมีพรรคสังกัด ดังนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง ไม่ใช่สร้างความเข้มแข็งโดยยึดตัวบุคคลเป็นหลัก แต่การร่างกฎหมายของ กรธ.ในกรณีนี้ถือเป็นการร่างกฎหมายที่ย้อนแย้งหรือขัดแย้งในตัวเอง

อีกทั้งผลโพลสำรวจความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นกับแนวคิดนี้ จึงไม่เข้าใจ เหตุใดไม่ยึดเอาความสะดวกและความเข้าใจของประชาชนเป็นหลัก แต่กรธ.เหมือนมีการปักธงล่วงหน้าแล้ว ซึ่งกรธ.ควรหัดเป็นคนแพ้บ้าง ไม่ใช่ชนะทุกครั้ง เพราะในที่สุดจะกลายเป็นเผด็จการจนเกินไป

กรธ.ย้ำหลักการจับเบอร์รายเขต ช่วยป้องกันทุจริต