หลังจากก่อนหน้านี้ สนช. มีมติผ่านร่างกฎหมาย กกต. โดยมีมติให้เซ็ตซีโร่ กกต. ยกชุด แต่กลับไม่มีการเซ็ตซีโร่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จนทำให้ กกต. มองว่า สนช. ใช้ 2 มาตรฐานตัดสินนั้น ล่าสุด กฎหมายองค์อิสระอีกฉบับหนึ่ง คือ กฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สนช.ได้ปรับแก้จากร่างของ กรธ. โดยไม่เซ็ตซีโร่ กสม. แถมให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 3 ปี แม้ว่าจะขาดคุณสมบัติก็ตาม
วานนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีได้คำสั่งนัดประชุมสนช. ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวาระสอง และวาระสาม หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช. ที่มี พลเรือเอก วัลลภ เกิดผล เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาปรับปรุงและแก้ไขเสร็จแล้ว
โดนเนื้อหาของร่างกฎหมายกสม.ที่ถูกแก้ไขจากร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เสนอมา คือ คุณสมบัติของ กรรมการ กสม. ทั้ง 7 คน ที่ปรับระยะเวลาของการมีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในด้านการทำงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 10 ปี จากเดิมที่ระบุระยะ ขั้นต่ำคือไม่น้อยกว่า 5 ปี
และในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ กสม. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายบังคับใช้ ให้อยู่ต่อจนครบเวลา 3 ปี และไม่ให้นำการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม อาทิ เคยเป็นข้าราชการการเมืองไม่พ้นระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา มาบังคับใช้
ส่วนการสรรหากรรมการ กสม. นั้นบทเฉพาะกาล กำหนดให้ คณะกรรมการสรรหา ต้องสรรหาให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน ทั้งนี้หากมีกรณีที่ต้องวินิจฉัยคุณสมบัติของ กสม. ชุดปัจจุบัน กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา โดยกำหนดระยะเวลาต้องวินิจิฉัยให้เสร็จ ภายใน 20 วัน
ส่วนเนื้อหาสาระหลักของร่างกฎหมาย กสม. โดยหลักการแล้วยังคงเป็นไปตามที่ กรธ. นำเสนอมาในชั้นต้น อาทิ กำหนดให้คณะกรรมการ กสม. ต้องเป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายและผ่านการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยกรรมการมี 7 คน ดำรงตำแหน่ง ได้ 7 ปี เพียงวาระเดียว ซึ่ง กสม. มีสิทธิถูกตรวจสอบจากบุคคลภายนอกองค์กรได้
หน้าที่หลักของ กสม. คือ ตรวจสอบ รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี พร้อมเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขที่เหมาะสมต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนประจำปีเพื่อรายงานต่อรัฐสภาและ ครม. แต่หากเกินเวลา 90 วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน กสม.ยังทำรายงานไม่แล้วเสร็จโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ