หลังจากมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารว่า ทำให้พระปรางค์มีสีขาวโพลน และลวดลายเปลี่ยนไป ล่าสุดอธิบดีกรมศิลปากรยืนยัน การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ใช้วัสดุ ลวดลาย และสีแบบดั้งเดิม และถอดกระเบื้องเก่าออกเพียง 40% เท่านั้น

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารว่า ทำให้พระปรางค์มีสีขาวโพลน และลวดลายเปลี่ยนไป ว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งในปี 2556-2560 กรมศิลปากรตรวจพบว่า เนื้อปูนของพระปรางค์มีการเสื่อมสภาพ มีตะไคร่น้ำและสิ่งสกปรกเกาะบนพื้นผิว พบเศษชิ้นส่วนหลุดร่วง จึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์และมณฑป (มน-ดบ) โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี

ซึ่งก่อนที่จะบูรณะครั้งนี้ ทางกรมศิลปากรได้สำรวจเก็บข้อมูลก่อนดำเนินการ และหาข้อมูลเกี่ยวกับลวดลายอย่างละเอียด จนพบว่ามีกว่า 120 ลวดลาย

โดยการบูรณะจะมีการเก็บสีและชิ้นส่วนไว้ทั้งหมด พร้อมใช้ปูนตำซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมตั้งแต่การก่อสร้างพระปรางค์สมัยรัชกาลที่ 3 และมีการใช้กระเบื้องใหม่ แทนกระเบื้องเก่าที่มีการชำรุด เพียง 40% หรือประมาณ 120,000 ชิ้นเท่านั้น

และการบูรณะในครั้งนี้ ยังคงใช้สีและรูปแบบลวดลายแบบดั้งเดิม เพื่อให้คงเอกลักษณ์ของศิลปกรรมและโบราณสถานที่สำคัญของประเทศไทยด้วย

ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระปรางค์กลายเป็นสีขาว และไม่เหมือนของเดิมนั้น ตนขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเทียบกับภาพถ่ายการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณ สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาล 5 จะพบว่า มีสีขาว ไม่ต่างจากการบูรณะครั้งนี้

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้กองโบราณคดี จัดทำจดหมายเหตุ การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณ ครั้งนี้เอาไว้ด้วย เพื่อจะได้บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ รวมถึงเป็นข้อมูลให้กับการบูรณะครั้งต่อไป

สำหรับกระแสข่าวว่า มีการนำชิ้นส่วนกระเบื้องจากพระปรางค์ไปทำเครื่องลางของขลังนั้น อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า สามารถทำได้ เนื่องจากพระปรางค์เป็นสมบัติของชาติในส่วนของสถาปัตยกรรม แต่ชิ้นส่วนต่างๆ ก็ยังถือเป็นสมบัติของวัดด้วยเช่นกัน

กรมศิลป์แจงบูรณะ "พระปรางค์วัดอรุณ" ยึดแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัย ร.4