สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนพนักงานโรงงานตัดเย็บในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกเลิกจ้าง เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานทั้ง 95 ราย ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 พร้อมเดินหน้าติดตามขอรับเงินกรณีว่างงาน ที่ประกันสังคม
สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงาน โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า "บริษัท ฟาร์อีสท์ ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6" ที่อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เร่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานทั้ง 95 คน คนละตั้งแต่ 27,000 – 99,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา
หลังจากบริษัทเลิกจ้างแรงงาน และย้ายสถานประกอบการ ไปอยู่กรุงเทพมหานคร แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปได้ โดยให้พนักงานเซ็นเอกสารสมัครใจลาออกเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งทางบริษัทเสนอเงินให้เพียงคนละ 10,000 บาท แต่มีแรงงานอีก 95 คน เห็นว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2559
และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ศาลได้พิพากษาให้จำเลย หรือนายจ้างจ่ายเงินชดเชย ให้กับแรงงานทั้ง 95 คน แต่จนถึงขณะนี้ ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางบริษัทยังเพิกเฉย
โดยเมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ตัวแทนแรงงาน ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้า กรณีขอรับเงินการว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากประกันสังคม ยังไม่สามารถจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แรงงานได้ จนกว่านายจ้างจะเซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสาร จากลาออกเป็นเลิกจ้าง
โดยหนึ่งในตัวแทนแรงงาน บอกว่า หลังถูกเลิกจ้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงานอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชย จากทางบริษัทตามกฎหมายแล้ว หลายคนก็ต้องตกงาน เพราะอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้าง จะไปสมัครทำงานที่อื่น ก็ไม่มีใครรับ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิ รู้สึกดีใจ และมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่ได้รับเงินตามคำพิพากษาศาล แต่อย่างใด
ด้านนายประถม วิสุทธิพรปิติกุล นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากนี้ ทางประกันสังคม จะทำหนังสือแจ้งนายจ้างตามขั้นตอน เป็นเวลา 3 ครั้ง เพื่อให้ทำการเปลี่ยนแปลงเอกสาร จากลาออกเป็นเลิกจ้าง ภายในระยะเวลา 45 วัน หากนายจ้างยังไม่มา ทางประกันสังคม ก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามขั้นตอนต่อไป