"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ปฏิเสธกระแสข่าวจับมือ "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ร่วมเป็นรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ชี้นโยบายหลายอย่างของรัฐบาล ไม่ตรงกับพรรค ด้าน "นายวัฒนา เมืองสุข" ท้าให้คนชอบ คสช. เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งอ้างว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะรวมพรรคกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งว่า หากถามตนว่า ให้ร่วมงานกับ พลเอก ประยุทธ์ หรือร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่า กลุ่มต่างๆ นี้ มีแนวทางตรงกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ส่วนตัวเห็นว่า นโยบายและความคิดหลายอย่างของพรรค ไม่ค่อยเหมือนกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน บางเรื่องตนก็ไม่สนับสนุน ดังนั้น ถ้าจะให้ร่วมงานกันก็ต้องพูดคุยกันก่อนว่า แนวทางการทำงานเป็นอย่างไร ยืนยันว่า ทำงานการเมืองมา 20 กว่าปี ยึดแนวทางว่า พูดอะไรต้องมีความจริงใจต่อสิ่งนั้น หากมีอะไรที่พูดทำไม่ได้ เราก็ต้องรับผิดชอบ
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นทางการเมือง วิจารณ์คำสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า “เอาเลยครับ…ไม่ต้องเหนียม” เนื้อหาสรุปว่า ตนชอบคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าพร้อมจะร่วมงานกับ พลเอก ประยุทธ์ หากสนับสนุนแนวทางของพรรค
ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการของพรรค ก็ยืนยันจะสนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แสดงให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และ คสช. คือแนวร่วมทางการเมืองที่มีจุดยืนร่วมกันและเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน แต่เป็นจุดยืนที่ตรงข้ามแนวทางประชาธิปไตย
สำหรับตนขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เอาด้วยกับ คสช.ทุกรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่าคนของพรรคเพื่อไทยคงคิดไม่ต่างกัน จึงถือโอกาสนี้บอกว่า ใครที่ชอบแนวทางของเผด็จการ หรือ เห็นว่าเผด็จการทำให้ประเทศนี้เจริญขึ้น และประชาชนอยู่ดีกินดีก็เชิญเลือกพรรคการเมืองนี้ ส่วนใครที่รักแนวทางประชาธิปไตยและไม่เอาด้วยกับเผด็จการก็เลือกพรรคเพื่อไทย
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความแสดงความเห็นทางการเมือง เรื่อง "ไม่เอานายกฯคนนอก" ระบุว่า ถ้า พลเอก ประยุทธ์ เป็น ส.ส.และมีพรรคการเมืองสนับสนุนให้เข้ามาเป็นนายกฯ ก็ถือว่า ไม่เลวร้ายอะไรนัก แต่ถ้า พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เท่ากับส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบเศษเสี้ยวให้เกิดขึ้นและมั่นคงต่อไป
ดังนั้นพรรคการเมืองที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยไม่ควรสนับสนุนคนนอก เป็นนายกฯ และควรจะแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ให้ประชาชนรู้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ปล่อยให้ประชาชนเข้าใจผิดและต้องผิดหวังในอนาคต