อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาเตือน คสช. ระบุ หากเลื่อนโรดแม็ปการเลือกตั้งออกไป เป็นปลายปี 2561 อาจทำให้ คสช. เสียคน และขาดความน่าเชื่อถือ พร้อมเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายืนยันให้ชัดเจนว่า จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อใด
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุ จะมีการเลือกตั้งปลายปี 61 ว่า หากรัฐบาลเลื่อนโรดแม็ปครั้งนี้ อาจจะเสียคน ขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งที่กฎหมายบางฉบับสามารถร่างเสร็จได้ภายในวันเดียว
ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไทม์ไลน์ เลือกตั้งมีกำหนดชัดเจนแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และถ้าขั้นตอนการร่างกฎหมายลูก ยืดออกไปเต็มระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเลือกตั้งได้ไม่เกินปลายปี 61 นอกจาก มีวาระซ่อนเร้นหรือวาระพิเศษอะไรบางอย่าง หากไม่ทำตามกติกาที่ร่างขึ้นก็ ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามกับสังคมให้ได้
ด้านนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจไม่กล้าระบุถึงไทม์ไลน์ การเลือกตั้งที่ชัดเจน เหมือนเป็นการพูดแบบผัดวันประกันพรุ่ง โรดแม็ปที่กำหนดก็เลื่อนไปมา ทั้งที่ขณะนี้รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว มีเงื่อนไขกรอบเวลาการทำกฎหมายลูกไว้ทั้งหมด
ทั้งนี้หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ ส่งผลต่อการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลแสดงความจริงใจ พูดให้ชัดเจนว่า จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อใด
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่มีอำนาจและมีบทบาทมากต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คือนายกรัฐมนตรีและกรรมการที่มาจากสายความมั่นคง สรุปคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีขึ้นครั้งแรกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช.หรือเรียกได้ว่าเป็นกลไกของคสช.
กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านต่างๆขึ้น ซึ่งก็ได้ตั้งขึ้นแล้ว เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ตัวร่างยุทธศาสตร์ชาติมาแล้ว ก็เสนอครม. ต่อจากนั้นก็ไปสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับเป็น ที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าเมื่อทำกันในช่วงนี้ ก็ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำแทน ซึ่งก็เป็นองค์กรของ คสช.อีก
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้น และจะมีผลต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีนี้ จึงเป็นสิ่งที่คสช.และพวกจะเป็นผู้กำหนดขึ้นทั้งหมด แม้ในกฎหมายจะกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ก็กำหนดให้ทำอย่างรวบรัดในเวลาสั้นๆ และภายใต้สภาพที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเช่นปัจจุบัน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมร่างยุทธศาสตร์ชาติได้จริง