"มีชัย ฤชุพันธุ์ " เผยเนื้อหา กฎหมายลูก ป.ป.ช.เลิกใช้ระบบ อนุกรรมการ แต่ให้ ป.ป.ช.ภาค ทำหน้าที่สอบทุจริตแทน พร้อมกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อให้การพิจารณาคดีทุจริตของ ป.ป.ช.เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ส่วน ป.ป.ช.จังหวัด ให้เปลี่ยนมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แทน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่า ยังไม่สามารถระบุวันเวลาการจัดทำร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จได้ เพราะเป็นเรื่องยาก แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตั้งอนุกรรมการ และให้มาใช้ระบบไต่สวนเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่แทน โดยได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อให้การพิจารณาคดีทุจริตของ ป.ป.ช.เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ กรธ. ได้พิจารณาถึงการกำหนดบทบาทการพิจารณาคดีทุจริตระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการ ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน ส่วนกรณีที่มี ป.ป.ช. และอัยการ มีความเห็นไม่ตรงกัน ยังคงให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันเหมือนเดิม แต่หากอัยการยืนยันว่า ไม่ฟ้อง ป.ป.ช. ก็ยังสามารถดำเนินการฟ้องเองได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ป.ป.ช. และ อัยการ ต่างเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้น กรธ. จึงเขียนกฎหมายให้มีกลไกปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผล แต่หากอัยการ เห็นว่า คดีดังกล่าวยังขาดรายละเอียดข้อเท็จจริง ก็สามารถขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้

ส่วนป.ป.ช.จังหวัด ยังอยู่ต่อไป แต่ไม่ให้มีหน้าที่ตรวจสอบ เพราะกรรมการไปนั่งในจังหวัด รู้จักกันหมด จึงให้เปลี่ยนมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่วนการตรวจสอบให้เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ภาค เพราะการทุจริตในพื้นที่หรือในจังหวัดไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นหากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ช.ส่วนกลางสามารถมอบหมายให้หน่วยงานระดับภาคเข้าไปสอบสวนในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ยอมรับว่าการทำกฎหมายนี้ยาก มีสองด้าน จึงมุ่งเน้นที่จะให้มีการปราบทุจริต แต่ก็ให้อำนาจมากไม่ได้

นายมีชัย ยังกล่าวถึง การวางกรอบเพื่อจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการจัดทำร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการยกร่าง เมื่อเสร็จจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณา

ทั้งนี้ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำร่างกฎหมายจะใช้เทคโนโลยีเข้าสนับสนุนการทำงาน เบื้องต้นจะมีแนวทางที่ประกาศร่างกฎหมายผ่านเว็ปไซต์ เพื่อให้ประชาชนที่มีความรู้ และสนใจต่อตัวกฎหมายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ รวมถึงเตรียมเปิดลงทะเบียนให้สำหรับประชาชนที่สนใจหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับร่างกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูล รวมถึงจะมีแนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎหมายที่สำคัญต่อสาธารณะ ด้วย