หัวหน้าประชาธิปัตย์ ชี้ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาไปต้อนรับนายกฯ ระหว่างลงพื้นที่สุพรรณบุรี เป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกอะไร บอกเร็วไปที่จะพูดถึงการจับขั้วการเมืองหลังเลือกตั้ง ด้าน "นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล" ชี้แจงอดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ต้อนรับนายกฯ หวังสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมแจงกรณีสนับสนุนนายกฯ อยู่ยาว 10 ปี แค่ความเห็นส่วนตัว
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวถึงกรณีที่อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ว่า การที่อดีต ส.ส.ได้ไปพบปะพูดคุยกับนายกฯ และรัฐมนตรีอีกหลายคนนั้น เพียงแค่ต้องการสะท้อนความเดือดร้อนของชาวนาให้นายกฯกับรัฐมนตรีได้รับรู้ เพื่อที่รัฐบาลจะได้แก้ปัญหาถูกจุด ซึ่งพวกเราเป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักเลือกตั้ง เพราะวันนี้ไม่มีสภาให้ส.ส.ไปพูดแทนประชาชน เมื่อมีเวทีจึงต้องมาสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้รัฐบาลฟัง
ส่วนการที่นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุต้องการให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ยาวถึง 10 ปีนั้น ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายประภัตร เพราะปัจจุบัน คสช.ยังไม่ให้นักการเมืองทำกิจกรรม และประชุมพรรค ดังนั้นคงบอกว่า เป็นความเห็นของพรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ได้
แต่หากใครจะวิจารณ์ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาหันไปสนับสนุนรัฐบาลทหารแล้วนั้น ก็สุดแล้วแต่จะมอง เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยสร้างศัตรูกับใคร และเป็นมิตรกับทุกพรรค ซึ่งก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีโอกาสจะรู้ได้ว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาล เพราะเราไม่มีสิทธิ์ไปคิดแทนประชาชน
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายกฯ ลงพื้นที่จ.สุพรรณบุรี และมีอดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาไปร่วมต้อนรับนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของพื้นที่ หรือเจ้าภาพจะไปต้อนรับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และการที่นายกฯ จะคุยกับนักการเมืองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหากนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปเป็นตัวตั้ง
แต่ยังเร็วเกินไปที่จะมองว่า เป็นการจับขั้วทางการเมืองในเวลานี้ เพราะนายกฯ พูดเองว่า จะเป็นคนดูแลกติกาเลือกตั้งให้กับผู้ลงเลือกตั้ง ส่วนนายกฯ จะลงมาเป็นผู้เล่นด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวนายกฯ ที่จะต้องเป็นผู้กำหนด เพราะนายกฯ เป็นคนเดียวที่จะตอบได้
นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันว่า คสช.ควรเดินตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้นั้น เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ ดังนั้นหน้าที่ของ คสช.จึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามแผนที่ คสช.กำหนดไว้ และต้องนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย