กกต. เตรียมหารือประเด็นยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก กกต. หรือไม่ในวันที่ 25 กันยายน ยืนยันไม่ยื่นตีความกรณีถูกเซ็ตซีโร่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต. ว่า เบื้องต้นที่ประชุมกกต.ได้หารือถึงแนวทางการทำงานของกกต.ที่ต้องปรับเปลี่ยนไป ภายหลังพ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มีผลบังคับใช้ ซึ่งในบทเฉพาะกาล กำหนดให้กกต.ยังปฏิบัติตามเดิม ไปจนกว่าสำนักงาน กกต.จะเสนอระเบียบใหม่ให้ กกต.เห็นชอบ

แต่เรื่องที่สำคัญ คือ องค์ประชุม กกต.ตามกฎหมายใหม่กำหนดไว้ว่า ต้องมีองค์ประชุม 5 คน จาก กกต.ทั้งหมด 7 คน แต่กกต.ชุดปัจจุบัน ยังมีอยู่เพียง 5 คน เท่ากับว่า หลังจากนี้ไปการประชุม กกต.ชุดปัจจุบันจะต้องมาประชุมให้ครบ 5 คนเท่านั้น จึงจะประชุมได้ หากใครป่วย หรือ มีคนลา ก็จะประชุมไม่ได้

ส่วนการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกกกต.ว่า มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ทางกกต.จะพูดคุยกันในวันอังคารที่ 25 กันยายนนี้ว่า จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยหัวข้อที่จะยื่นในนามของ กกต. จะไม่มีเรื่องเซตซีโร่ เพราะ กกต.เห็นว่า การไม่อยู่เป็น กกต.มีความเป็นสุขมากกว่า แต่ถ้ากกต.คนใดติดใจเรื่องเซตซีโร่จะยื่นส่วนตัวก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความคืบหน้าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

นายสมชัย ยังกล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า การกำหนดงวันเลือกตั้งนั้น จะทำได้ ต่อเมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูฯ กำหนดให้กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร เพราะไม่ว่า กฎหมายทั้ง 4 ฉบับจะมีผลเมื่อไร กกต.ก็พร้อมจัดการเลือกตั้ง พร้อมยืนยันว่า การสรรหา กกต.ชุดใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งนั้น เพราะแม้จะสรรหากกต.ชุดใหม่ล่าช้า กกต.ชุดปัจจุบันก็สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งต่อไปได้ 

ด้านพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ว่า เท่าที่เห็นเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ตามที่
กรธ.เสนอมา คิดว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรกับ ป.ป.ช.มากนัก และเชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น

อาทิ การกำหนดให้ ป.ป.ช.ใช้ระยะเวลาไต่สวนแต่ละคดีไม่เกิน 2 ปี แต่ ป.ป.ช.เป็นห่วงว่า บางคดีที่มีพยานหลักฐานมากมาย หรือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทางคดีอาญา อาจจะต้องใช้เวลานานมากขึ้น

พร้อมยอมรับว่า ร่างกฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเข้มงวด อาจมีผลทำให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งถึง 7 คน แต่ผู้ที่จะชี้ขาดจริงๆ ว่ากรรมการ ป.ป.ช.จะพ้นตำแหน่งกี่คน คือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จึงต้องรอดูมติของคณะกรรมการสรรหาด้วย แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ป.ป.ช.ยินดีรับกติกาฉบับใหม่ ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งจริงๆก็ถือว่าได้พักผ่อน