ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดตราด กำลังได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดทุเรียน สร้างความเสียหาย ต้นทุเรียนยืนต้นตายเกือบทั้งสวน คาดเป็นโรคระบาดชนิดใหม่ วอนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบ และหาวิธีรักษา

สถานการณ์โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน หรือโรคไฟทอป ธอร่า ในจังหวัดตราด เริ่มแพร่ระบาดหนัก ขยายวงกว้างมากขึ้น หลังจากสวนทุเรียน ของนา สมนึก บุญธรรม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ ยืนต้นตายจากโรคดังกล่าว จนหมดทั้งสวน (80 ต้น)

ล่าสุด นายพิเชษฐ์ มูลชอบ อดีต นายก อบต.วังตะเคียน เจ้าของสวนทุเรียน บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ เล่าว่า สวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 750 ต้น อายุ 5 - 10 ปี ของตัวเอง ที่ปลูกไว้ได้ทยอยยืนต้นตายไปแล้ว ประมาณ 300 ต้น และมีทุเรียนที่เริ่มเป็นโรค ใบเหลือง มีแผล คล้ายราสีชมพู ตามลำต้น และกิ่ง เกือบทั้งสวน ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม

แม้จะพยายามใช้สารเคมี และยารักษา ตัดกิ่งที่เป็นแผล นำไปเผาไฟทิ้ง แต่กลับไม่ดีขึ้น รวมทั้งโรคดังกล่าว ยังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หลังเริ่มมีอาการไม่ถึง 20 วัน ทุเรียนก็ยืนต้นตาย ที่ผ่านมา พยายามหาวิธีรักษาต้นทุเรียนไปแล้ว เกือบ 4 แสนบาทแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

คาดว่า โรคระบาดในทุเรียนดังกล่าว น่าจะเป็นโรคสายพันธุ์ใหม่ เพราะไม่มียา หรือสารเคมีใดๆ รักษาได้ มีลักษณะคล้ายโรคราสีชม จะเป็นแผลตามลำต้น และกิ่งทุเรียน เมื่อใช้ยารักษาโรครา ในจุดที่เป็นแผล ก็จะย้ายที่ระบาดจุดอื่น จนทั่วลำต้น และยืนต้นตายในที่สุด

ส่วนสาเหตุ น่าจะเกิดจากภาวะฝนตกชุก จนทำให้พื้นดินชุ่มน้ำมากเกินไป และติดต่อกันนาน เพราะฝนเริ่มตกมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และทุกวันนี้ก็ยังตกอยู่ โดยชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ หวังว่า เมื่อฝนหยุดตก หรือฝนทิ้งช่วง ทุเรียนได้รับแสงแดด และพื้นที่แห้ง อาจจะช่วยให้ทุเรียนหายจากโรคดังกล่าวได้บ้าง เนื่องจากความเสียหายดังกล่าว ทำให้ชาวสวนทุเรียน ต้องขาดทุนและเดือดร้อนอย่างหนัก

จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบ และวิเคราะห์โรคดังกล่าว เพื่อหาวิธีแก้ไข และรักษา เพื่อป้องกันการระบาดมากไปกว่านี้

ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดตราด เดือดร้อนจากโรคระบาดทุเรียน