เกษตรตรวจสวนทุเรียนยืนต้นตาย พบดินเป็นกรดรุนแรง ตัดกิ่งตรวจหาเชื้อ เร่งรักษา
นายวันชัย เจริญใจ เกษตรอำเภอเขาสมิง นำเจ้าหน้าที่ตรวจสวนทุเรียน ที่ยืนต้นตาย ของนายพิเชษฐ์ มูลชอบ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลวังตะเคียน อำเภอเขาสมิง พบมีทุเรียนร่วม 300 ต้น ยืนต้นตาย และทุเรียนที่เริ่มเป็นโรคอีก 400 ต้น จึงทำการตรวจวัดค่า PH ของดิน
พบว่า ค่า PH ของดิน ตั้งแต่ระดับ PH4 จนถึง 5.5 ซึ่งถือว่า สภาพดินมีค่า PH ต่ำ เป็นกรดค่อนข้างรุนแรง ขณะเดียวกันการรักษาโรคทุเรียนของนายพิเชษฐ์ ค่อนข้างล่าช้า
เนื่องจากพบว่า ทุเรียนดังกล่าว ถูกเชื้อโรคเข้าสู่ลำต้น และกระจายไปตามท่อน้ำเลี้ยง ไปยังส่วนต่างๆของลำต้น ทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย ซึ่งจะต้องใช้วิธีฉีดยาเข้าลำต้น ให้ยาซึมไปตามท่อน้ำเลี้ยง เพื่อฆ่าเชื้อราที่กระจายไปทุกส่วนของลำต้น
แต่นายพิเชษฐ์ ใช้วิธีรักษาด้วยการเปิดแผลที่ลำต้น และกิ่งทุเรียน แล้วทายาฉีดพ่นใบ และลำต้น ทำให้เชื้อที่อยู่ในลำต้น ยังคงกระจายได้ตลอดเวลา
นายวันชัย บอกว่า ยังไม่แน่ใจว่า เชื้อราที่พบในทุเรียน จะมีแค่เชื้อไฟทอปธอร่าเชื้อราสีชมพู เชื้อราใบติดหรือไม่ จึงต้องตัดกิ่งทุเรียนในสวนของนายพิเชษฐ์ ไปเพาะเนื้อเยื่อ ตรวจหาเชื้อราดังกล่าวอีกครั้ง ในช่วงนี้แนะนำให้นายพิเชษฐ์ ทำการรักษาตามอาการไปก่อน
โดยให้ตัดโค่นต้นทุเรียนที่ตายแล้ว ไปเผาทำลายทิ้งให้หมด ทั้งกิ่งก้านและใบและทำความสะอาดโคนทุเรียน ที่ยังเหลืออยู่ ใช้สารเมดตาริดซิ่นราดโคนต้น เพื่อฆ่าเชื้อ และใช้ปูนขาวปูนมาล์ลมาใส่ดินในสวน เพื่อปรับสภาพดินให้มีค่า PH ในระดับเป็นกลาง เนื่องจากเชื้อราไฟทอปธอร่า จะเจริญได้ดีในสภาพดินเป็นกรด ซึ่งจะทำให้เชื้อรา เข้าสู่ลำต้นของทุเรียนได้ทางราก และกระจายไปทั่วลำต้นดังกล่าว
นายวันชัย บอกต่อว่า สวนของนายพิเชษฐ์ อาการค่อนข้างหนัก เพราะทุเรียนเป็นทั้งโรคไฟทอปธอร่า และโรคราสีชมพู นอกจากนี้ โรคยังดื้อยา อาจจะมาจากวิวัฒนาการของโรค ที่ปรับตัวเองให้ดื้อยาได้ หรืออาจจะป็นเชื้อราชนิดใหม่
และต้นเหตุของการเกิดโรค นายวันชัยบอกว่า มาจากสภาพดินฟ้าอากาศ ที่มีฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลานาน น้ำแช่ขังโคนทุเรียน และไหลไปทั่วสวน ทำให้เชื้อรา แพร่กระจายไปตามน้ำ ระบาดไปไปทั่วสวน
ดังนั้น ในระยะนี้ อยากให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน หมั่นตรวจตราสวนทุเรียนทำความสะอาดโคนต้นทุเรียน อย่าให้น้ำแช่ขัง เก็บกวาดใบทุเรียนที่ร่วงหล่นอยู่โคนต้น ไปเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อราไฟทอปธอร่า หากพบทุเรียนมีอาการใบเหลือง ลำต้นมีแผล ให้รีบรักษาอย่างเร่งด่วนทันที
Cr.พูลศักดิ์ // ตราด