กรมศิลปากร ฝึกซ้อมการแสดงมหรสพสมโภช พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก มาจัดเเสดงในรูปแบบละครรำ
เสียงระนาดบรรเลงเพลงนำเนื้อเรื่อง พร้อมด้วยท่าทางการร่ายรำ ที่งดงาม อ่อนช้อย ของทีมนักแสดง ผู้บรรเลง ขับร้อง จากนาฏศิลปิน คีตศิลปินและดุริยางคศิลปิน ข้าราชการของสำนักการสังคีต และ นักเรียนนักศึกษา จากสถาบันบัญฑิตพัฒนศิลป์ ทั่วประเทศ รวมกว่า 150 คน ที่มาร่วมซ้อมการแสดงละคร เรื่อง "พระมหาชนก" หนึ่งในการแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่จะจัดแสดงบนเวที ที่ 2 บริเวณทิศเหนือของท้องสนามหลวง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของของพระองค์ท่าน ในฐานะองค์อัครศิลปิน
อาจารย์วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการด้านนาฏศิลป์ไทย ในฐานะผู้กำกับการแสดง บอกว่า “พระมหาชนก” เป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก โดยเป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงโปรดมากที่สุด ซึ่งในงานมหรสพสมโภชจะนำมาจัดแสดงในแบบละครรำ ตามแบบของกรมศิลปากร ที่อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ นำมาประพันธ์เป็นบทละครขึ้นใหม่ โดยสอด แทรกระบำและตลกในตัวเทวดาที่ทำหน้าที่ดำเนินเล่าเรื่องราว ให้การแสดงกระชับน่าสนใจ และยังเชื่อมแต่ละฉาก ซึ่งมีทั้งหมด 7 ฉาก ให้ต่อ เนื่องกันอย่างลงตัว เข้าใจง่าย ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที และ การแสดงในครั้งนี้ทุกฉากล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากพระมหาชนกว่ายน้ำกลางมหาสมุทร และฉากต้นมะม่วงที่ทำให้เกิดเรื่องพระมหาชนก ซึ่งขณะนี้ความพร้อมมีมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว แต่ยังเหลือการซ้อมในสถานที่จริงเท่านั้น
สำหรับการแสดงดังกล่าว เป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านภาษา และศิลปวัฒนธรรม ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ก่อนที่จะทรงแปลมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2531
ซึ่งเนื้อหาจะนำเสนอให้เห็นความสำเร็จในความเพียร ความมีสติ และผลเสียที่เกิดจากการขาดสติไตร่ตรอง ตลอดจนคติสอนใจของพระองค์ท่าน ซึ่งสอดแทรกในทุกๆ ฉากของบทละคร และการแสดงละครเรื่อง "พระมหาชนก" จะมีการซ้อมใหญ่ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง