ชาวชุมชนหาดหัวหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งของเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างผนังแบบอ่อนคล้ายกับธรรมชาติ โดยเห็นว่า ควรใช้หินทิ้ง สร้างผนังสูงแข็งแรง ในจุดที่เสี่ยงกัดเซาะรุนแรงมากที่สุด

จากกรณีที่เกิดคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแนวยาวกว่า 3 กิโลเมตร บริเวณชายหาดหัวหิน หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้ร้องขอความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลังทราบเรื่อง เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาตรวจสอบ และ เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาไว้ รวมถึงการทำผนังอ่อน ป้องกันการกัดเซาะ และยังคงความธรรมชาติเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ ผู้สื่อข่าวมีโอกาสพูดคุยกับ นายจอมรวย เกลี้ยงช่วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน ตัวแทนของชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีเจ้าหน้าที่ เข้ามาเสนอหนทางแก้ไขปัญหา หาดหัวหินโดนน้ำทะเล
กัดเซาะ

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่แนวทางที่เจ้าหน้าที่ กรมทรัพย์ ฯ เสนอ ค่อนข้างสวนกระแส กับความต้องการของชาวบ้านและชุมชน อาทิ การสร้างผนังอ่อน ชาวบ้านเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะจุดที่มีปัญหา เป็นพื้นที่สูง และมีแนวโน้มน้ำกัดเซาะรุนแรงทุกปี ชาวบ้านจึงต้องการให้ สร้างพนังแข็ง โดยใช้หินทิ้ง วางแนวให้ลาดเอียงไปกับหาด เพื่อความคงทนถาวร

ส่วนระยะเวลา และ งบประมาณในการก่อสร้าง รวมถึงระยะทางของแนวเขื่อน จากจุดที่มีปัญหาความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านอยากจะให้เร่งซ่อมในจุดเสี่ยง ระยะทางประมาณ 250-300 เมตรก่อน เพราะตอนนี้ มีคนเดือนร้อนหนัก เช่น ผู้ประกอบการที่พัก ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ จากลานกีฬาริมหาด ตอนนี้ น้าทะเล รุกคืบขึ้นไปบนถนนแล้ว รวมปีนี้ น้ำกัดเซาะเข้ามาเกือบ 8 เมตรแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนวิธีการแก้ปัญหา เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ชาวตรังไม่เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพย์ฯ