ทีมสัตวแพทย์จากหลายสถาบัน ร่วมกันตรวจสอบอาการบาดเจ็บของช้างป่าสีดอตกน้ำป่า ที่ได้เคลื่อนย้ายมาจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มายังสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง ล่าสุดพบว่าอาการยังน่าเป็นห่วง หลังตรวจพบว่ามีเลือดออกที่กระดูกสันหลัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ สัตว์แพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจอาการของช้างตลอดทั้งวัน พบว่าช้างไม่สามารถกระดิกหางได้ และขาหลังก็ไม่สามารถใช้การได้ ส่วนการรับรู้ความรู้สึกก็จะอยู่บริเวณตั้งแต่ส่วนกลางของเอว จึงได้ทำการวินิจฉัย โดยการทำอัลตาร์ซาวด์แทนการเอ็กซเรย์ เนื่องจากช้างตัวใหญ่ พบว่าที่บริเวณไขสันหลังหรือกระดูกสันหลังอาจจะมีเลือดออก ส่วนแนวทางการรักษาหลังจากนี้ทางทีมสัตว์แพทย์จะได้ให้ยาเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในไขสันหลังแทนการผ่าตัด เพราะช้างตัวใหญ่ผ่าตัดไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ช้างติดเชื้อและไม่มีอุปกรณ์มาช่วยยึดและดามหลังช้างไม่ให้ช้างเคลื่อนหรือขยับได้ รวมถึงการพยุงอาการโดยการให้สารน้ำและดูแลเรื่องที่นอนเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บปวด
ด้าน นายสัตวแพทย์ทวีโภค อังควานิช สัตวแพทย์ประจำสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ช้างสีดอตัวนี้ซึ่งเป็นช้างป่าเกิดอาการเครียดไปมากกว่านี้ จึงได้เลือกสถานที่ใกล้เคียงกับที่เคยอยู่เดิม เพื่อให้ช้างได้ทำการปรับสภาพให้คุ้นชินซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 2–3 วัน เพื่อให้ช้างปรับสภาพร่างกาย และสภาพแวดล้อม และลดอาการเครียดเมื่อคุ้นเคยแล้ว ก็จะได้ย้ายไปรักษาภายในโรงเรือนรักษาของโรงพยาบาลช้าง
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.นิกร ทองทิพย์ สัตว์แพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดเผยว่า อาการของช้างป่าสีดอยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่หนักมาก เพราะการบาดเจ็บที่ไขสันหลังถือว่ารักษาให้หายได้ยาก โดยเฉพาะช้างที่มีน้ำหนักตัวถึง 4,000 กิโลกรัม และเป็นช้างป่าซึ่งมีพฤติกรรมไม่เหมือนกับช้างเลี้ยง จึงไม่เชื่องเลยทำให้ทีมสัตวแพทย์ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และยังคงต้องประเมินอาการของช้างวันต่อวันในการให้ยารักษาดังกล่าว
ทั้งนี้อุปสรรคคืออุปกรณ์ในการรักษา เนื่องจากปกติจะไม่มีอุปกรณ์เฉพาะรักษาช้าง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นจำเป็นต้องมีการดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นห่วงหากช้างนอนนานๆ ก็จะเป็นแผลกดทับ ซึ่งเกิดมีแผลก็จะทำให้ติดเชื้อและมีโรคแทรกซ้อนได้ โดยทีมสัตว์แพทย์ทุกคนจะพยายามทำการรักษาให้สุดความสามารถ แต่ก็ยอมรับว่าการรักษากระดูกสันหลังเป็นเรื่องยาก ซึ่งทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องก็จะยังบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไปจนช้างจะมีอาการที่ดีขึ้น
cr.ธนโชติ / จ.ลำปาง