หลายพื้นที่เตรียมประดิษฐ์กระทงรับงานวันลอยกระทงที่จะถึงนี้กันอย่างคึกคัก ขณะที่สองสาวใน จ.ปทุมธานี เร่งผลิตกระทงข้าวโพดอบกรอบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ส่งขาย กระแสตอบรับดี
น.ส.นิตยา เสือเงิน และ น.ส.เจนจิรา สิทธินงค์ กำลังช่วยกันนำข้าวโพดอบกรอบสีต่างๆ มาบรรจงติดกาวบางๆ ขึ้นรูปเป็นกระทงในแบบต่างๆ พร้อมทั้งวาดหน้าตัวการ์ตูนแปะลงบนกระท งสร้างความสวยงามแปลกตา เพื่อเตรียมบรรจุส่งให้กับลูกค้าในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งตามจังหวัดต่างๆ ที่สั่งจองทางออนไลน์เข้ามา ให้ทันวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ (3 พฤศจิกายน) ราคาส่งเริ่มที่ 25-35 บาท เท่านั้น
น.ส.นิตยา บอกว่า เพิ่งเริ่มทดลองทำได้เพียง 7 วัน เมื่อทำคล่องแคล่วจึงโพสต์รูปลงเฟซบุ๊กเพื่อเปิดรับออเดอร์ ซึ่งมีผู้สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากตนเองจึงรีบผลิตตลอดทั้งวันทั้งคืน ได้กำไรประมาณ 1,500 บาทต่อวัน และที่สำคัญกระทงนี้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ลำคลอง และเป็นอาหารสำหรับปลานานาชนิดได้อีกด้วย
ที่ จ.ลำปาง ชาวบ้าน บ้านล้อมแรด อ.เถิน กำลังช่วยกันประดิษฐ์ตกแต่งกระทงใหญ่ เพื่อจะนำไปประกวดในงานประเพณีลอยกระทงประจำปีนี้ ซึ่งจุดเด่นของกระทงยักษ์ปีนี้ คือโคมไฟ ที่ทำขึ้นมาจากเศษช้อนพลาสติกที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว โดยนำมาล้างทำความสะอาด และนำมาต่อยอดประดิษฐ์ทำเป็นโคมไฟ ที่จะให้แสงสีขาวนวลยามค่ำคืน
ที่จังหวัดกำแพงเพชรชาวบ้าน ต.ทรงธรรม อ.เมือง เร่งทำกระทงจากเปลือกข้าวโพดกันอย่างขะมักขะเม้น โดยปีนี้มียอดสั่งเยอะมากกว่าปีที่ผ่านมา จนทำไม่ทันข่าย
ปีนี้ชาวบ้านได้ทดลองนำตุ๊กตาเก๋ๆ มาประดับไว้เพื่อเพิ่มความน่ารักสวยงาม เป็นปีแรก เพื่อทดลองขาย พบว่ามีกระแสตอบรับดี และมีลูกค้าสั่งจองเป็นจำนวนมาก ส่วนราคาแล้วแต่ขนาด มีตั้งแต่ ใบละ 25 ถึง 1,000 บาท
ส่วนที่จังหวัดสุโขทัย บรรดาช่างฝีมือพากันรวมกลุ่มกันนำวัสดุธรรมชาติ ทั้งดอกไม้ ใบไม้ต่างๆ และเมล็ดธัญพืช ใบลาน เปลือกข้าวโพดย้อมสี มาเตรียมทำโคมชัก โคมแขวน กระทงใหญ่ กระทงเล็ก นำเข้าประกวด ชิงเงินรางวัล ในงานเทศกาลลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟจังหวัดสุโขทัย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน
หนึ่งในผู้รังสรรค์กระทง บอกว่า ทุกคนตั้งใจทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสืบสานงานศิลปะดอกไม้ให้คงอยู่ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูงานประดิษฐ์ที่นับวันจะเหลือน้อย และอาจสูญหายไป หากไม่ร่วมกันสืบสาน และอนุรักษ์ไว้