"นายสุริยะใส กตะศิลา" แนะนำนายกรัฐมนตรี ปรับ ครม. ยกชุด ก่อนปลดล็อกพรรคการเมืองและประกาศวันเลือกตั้ง ระบุ รัฐมนตรีหลายกระทรวงยังสอบตก ส่วนการหาคนมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ล่าสุดมีข่าวว่า ได้ทาบทาม "พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ" มาดำรงตำแหน่ง
จากกรณีที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งใหญ่ จนมีข่าวว่า อาจโยกพลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่ง จนพลเอก อุดมเดช ต้องออกมาปฏิเสธว่า เป็นแค่ข่าวลือ
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ได้มีการทาบทามให้ พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 ของพลเอก ประยุทธ์ ที่เตรียมยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ทำให้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พลเอก ยอดยุทธ แต่พลเอก ยอดยุทธ ปฏิเสธ โดยระบุว่า ยังไม่มีการทาบทามอะไร อย่าเพิ่งพูดไป เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยอะไรเลย
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีต้องปรับ ครม. ขอฝากนายกฯว่า เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน นายกฯไม่ควรปรับ ครม.เพียงแต่ปรับเปลี่ยนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง
ซึ่งการปรับ ครม.ควรดำเนินการบนพื้นฐาน 3 ประการดังนี้ 1.คัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง 2.คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และ 3.ปรับทุกกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ มีการติดตามประเมินผลแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เน้นเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ ถ้านายกฯปรับ ครม.ไปพร้อมกับการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เชื่อว่า จะทำให้การทำงานของรัฐบาลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การปรับครม.เป็นเรื่องปกติของแต่ละรัฐบาลในการบริหาร เพื่อประเมินผลงานรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ตอนนี้ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น คือ เรื่องปากท้องประชาชน เพราะเกิดปัญหาจากความไม่เชื่อมั่นรัฐบาลของทุกภาคส่วน
ซึ่งรัฐบาลทำนโยบายที่ผิดพลาดหลายๆ เรื่อง อาทิ บัตรคนจน ที่หวังจะกระตุ้นคนรากหญ้าให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่กลับมีเงื่อนไขรายละเอียดซับซ้อน ไม่เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยตรงอย่างทั่วถึง และยังมีปัญหายางพาราและสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นการทำนโยบายผิดพลาดทั้งสิ้น
ดังนั้นต่อให้ปรับ ครม.สักกี่เก้าอี้ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้ายังใช้วิธีการทำงาน และแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่ตนเตือนเพราะตนหวังดี ไม่ใช่จะอยู่ดีๆ จะมาวิจารณ์ เพราะหากรัฐบาลยังดึงดันอาจจะเข้าขั้นเสื่อมที่สุดในด้านบริหาร เรียกว่าล้มละลายทางด้านเศรษฐกิจเลยก็ได้
ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ตนเห็นว่า ถึงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ก่อนประกาศปลดล็อกและกำหนดวันเลือกตั้ง โดยการปรับ ครม.ทั้งคณะ เพราะขณะนี้โอกาสกลับมาเข้าทางนายกฯ อีกครั้งแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความกล้าหาญหรือไม่ เพราะช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง
ต้องยอมรับว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงสอบไม่ผ่าน และพิสูจน์พอแล้วว่า การเอาทหารมาเป็น ครม.มากเกินไปไม่ตอบโจทย์ ทำให้ปัญหาพุ่งกดดันไปที่ตัว พลเอก ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ที่สำคัญการปรับ ครม.โค้งสุดท้ายต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคน หรือย้ายสลับเก้าอี้
แต่ต้องกล้าเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการแก้ปัญหาด้วย จึงอยากให้การปรับ ครม.ครั้งนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศด้วย แต่ถ้านายกฯ มองข้ามโอกาสนี้ไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดายจนอาจหมดเวลาแก้ตัวไปในที่สุด