รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผย อัยการ สคช.กันทรลักษณ์ ได้แนะญาติ "ผอ.อ้อย" รับสิทธิชดใช้ตามกฎหมายกับผู้ต้องหาได้ ขณะที่พ่อ ผอ.อ้อย ขอให้ ผู้กองเหน่ง ยอมรับสารภาพ เพราะหลักฐานชัดเจน

เมื่อคืนที่ผ่านมา ( 5พ.ย.) นายบุญเลิศ และ นางแหลม อุ่นอ่อน พร้อมญาติพี่น้อง ได้นิมนต์พระสงฆ์ 8 รูป มาประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ของนางสาวจุฑาภรณ์ อุ่นอ่อน หรือ ผอ.อ้อย อดีตผู้อำนวยการ กองการศึกษาฯ อบต.ชำ เป็นคืนที่ 2 ที่บ้านของ ผอ.อ้อย

มี พันตำรวจเอกบัณฑิต อ่อนสาคร รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดศรีสะเกษ และ นายศักดา คล้ายร่มไทร อัยการจังหวัดกันทรลักษ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า มีตำรวจ-ทหาร ชาวบ้าน มาร่วมพิธีจำนวนมาก

นายบุญเลิศ บอกว่า จะประกอบพิธีเผาหลอกศพ ผอ.อ้อย ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ โดยนำต้นกล้วยมาเผาในโลงศพแทน เมื่อคดีสิ้นสุด และมีเงินแล้ว จะนำเอาศพของ ผอ.อ้อย มาฌาปนกิจต่อไป

ส่วนความคืบหน้าของคดี ได้รับการประสานจากตำรวจว่า กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน จะส่งสำนวนฟ้องต่ออัยการจังหวัดกันทรลักษ์ได้ และหาก ร้องเอกศุภชัย ภาโส หรือ ผู้กองเหน่ง เป็นชายชาติทหารจริง ก็ควรรับสารภาพกับสิ่งที่ทำไป

ขณะที่ นายศักดา คล้ายร่มไทร อัยการจังหวัดกันทรลักษ์ บอกว่า คดีนี้ ตนเองได้ให้คำปรึกษาในด้านการรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานต่างๆ กับพนักงานสอบสวนมาตั้งแต่เริ่มแรก

จากการดูสำนวน ทางคณะอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ มีความเห็นอันน่าเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาคดีนี้ ได้กระทำผิดจริง หากพนักงานสอบสวน นำสำนวนมาส่งฟ้อง ในช่วงเช้า บ่ายวันเดียวกันนั้นก็จะสามารถสั่งฟ้องคดีนี้ ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ได้ทันที ส่วนการต่อสู้คดีในชั้นศาล ผู้ต้องหาสามารถนำเอาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกถึง การช่วยเหลือและให้คำแนะนำทางกฎหมายกับครอบครัว ผอ.อ้อย ว่า หลังครอบครัวขอคำปรึกษากับ อัยการจังหวัดกันทรลักษ์ เเละอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย (สคช.) จังหวัดศรีสะเกษ ขอให้ อัยการร่างหนังสือขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรม ให้ความคุ้มครองพยานไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ แล้ว

ล่าสุด อัยการจังหวัดกันทรลักษ์ เเละ พนักงานอัยการ สคช.ศรีสะเกษ แจ้งให้ญาติ ผอ.อ้อย ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย ทราบว่า มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย คือ ได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2559 ในกรณีถึงแก่ความตาย คือ ค่าตอบแทน ตั้งแต่ 3หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ค่าจัดงานศพ 2 หมื่นบาท

ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู ได้แก่ บุตรสาว บิดา-มารดา ของ ผอ.อ้อย และค่าเสียหายอื่นที่ไม่เกิน 4 หมื่นบาท ส่วนนี้อัยการ สคช.ได้จัดคำร้องให้แก่ญาติ ผอ.อ้อย พร้อมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายว่า ให้ยื่นต่อยุติธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ภายในเวลา ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ

พร้อมแนะนำการ ตรวจสอบสิทธิ ที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยกับพวก ตามมาตรา 44/1 ให้จำเลยและพวกคืนทรัพย์ของ ผอ.อ้อยที่สูญเสียไป

อัยการเข้าช่วยเหลือด้านกฎหมาย คดี ผอ.อ้อย