รองเลขาธิการแพทยสภา แนะนำเว็บไซต์ ตรวจสอบคลินิกเสริมความงามก่อนใช้บริการ ประชาชนจะได้รู้ว่า คลินิกที่จะเลือกใช้บริการ เปิดอย่างถูกต้อง มีมาตรฐานปลอดภัย หรือ เป็นคลินิกเถื่อน
จากกรณีที่เป็นข่าวโด่งดัง ในจังหวัดลำปาง หลังจากตำรวจภูธรเขลางค์นคร อำเภอเมือง ลำปาง สอบสวนทราบว่า ชายที่แอบอ้างเป็น “หมอดิว” หรือ นายจิรเดช เกตุรัตนกุล ที่ลงมือทำศัลยกรรมหน้าอกสาวประเภท 2 เสียชีวิต
แท้จริงแล้ว ชายคนนี้ เป็นพี่ชายของแฟน ของเจ้าของคลีนิกเถื่อน ซึ่งสวมรอยเป็นแพทย์และ เปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยเช่นกัน การสอบสวนครั้งนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า แล้ว “ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าคลินิกเถื่อน"
ทางพลอากาศตรี นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา แนะนำให้ประชาชน ตรวจสอบในระบบออนไลน์ ทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในขณะนี้ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. ทำระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด เชื่อมต่อระบบกับ สบส.
ซึ่งหากแล้วเสร็จ เมื่อประชาชน ใส่ข้อมูลของสถานพยาบาลลงไป หากชื่อไม่ปรากฎขึ้นมาก็ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นคลินิกเถื่อน
ส่วน กรณีแพทย์ปลอม เบื้องต้นสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ https://tmc.or.th/check_md/ หรือวิธีง่ายๆ เพียงใช้กูเกิล ค้นหาเป็นภาษาไทยว่า "ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากฐานข้อมูลแพทยสภา" ซึ่งตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าไม่พบชื่อ ให้ตั้งข้อสังเกต ก่อนว่า น่าจะเป็นหมอเถื่อน หรือ อาจโทรสอบถามยืนยันว่าแพทย์ได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุลหรือไม่ หากพบเจอให้แจ้ง สบส.ได้ทันที
ส่วนกรณีตรวจสอบแล้วว่า มีรายชื่อเป็นแพทย์จริง แต่มีการอ้างชื่อทำให้เกิดวามเสียหาย สามารถแจ้งดำเนินการตรวจสอบคดีจริยธรรม ต่อแพทยสภาได้ฟรี เช่นเดียวกับแพทย์ที่ถูกแอบอ้างหรือปลอมตัว ให้แพทย์ตัวจริงไปแจ้งความตำรวจในพื้นที่ และแจ้งที่ สบส.ให้เพิกถอนคลินิก ที่แอบอ้าง และแจ้งแพทยสภาทราบ
อย่างไรก็ตาม แพทยสภา สบส.เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ สคบ. ต้องทำงานร่วมกันเสมอ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับ แต่เกี่ยวเนื่องในเรื่องเดียวกัน ทำให้ประชาชนอาจสับสนได้ง่าย ขณะนี้กำลังมีการตั้งชุดบูรณาการคดีข้ามหน่วยงาน แบบวัน สต๊อป (one stop) โดย สคบ.ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานฯ กำลังดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน