วานนี้ ที่ประชุม สนช. ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่กรธ. เพิ่งส่งให้ สนช. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบรับหลักการกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับในวาระแรก โดยตั้งกรรมมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาต่อไป

วานนี้ (30 พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า การจัดทำร่างร่างกฎหมายส.ส.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ กรธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาตั้งแต่ต้น เพื่อช่วยตรวจดูความถูกต้อง ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

กรธ.จึงบัญญัติหลักการสำคัญหลายประการ เช่น การนำคะแนนที่ประชาชนโหวตโน หรือ ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครคนใด มานับด้วย และถ้าในเขตเลือกตั้งใด ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเกินกว่าคะแนนโหวตโน ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้น ก็จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งคราวนั้นได้อีก

โดยสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ อภิปราย สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ 189 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 33 คน กำหนดเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58 วัน

จากนั้น ช่วงบ่าย ที่ประชุมสนช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ชี้แจงหลักการว่า สาระสำคัญอยู่ที่การแบ่งกลุ่มบุคคลที่จะสมัครรับเลือกเป็นส.ว.ออกเป็น 20 กลุ่ม โดยใช้การเลือกตั้งส.ว.แบบไขว้ เพื่อป้องกันการฮั้วกัน

ในการอภิปรายของสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ เป็นห่วงว่า การเลือกไขว้จะป้องกันการฮั้วได้จริงหรือไม่ บางส่วนกังวลว่า การเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ค่อนข้างสับสน อาจทำให้ปัญหามาก เพราะบางจังหวัดมีพรรคการเมือง คุมอยู่ จึงเกรงว่า อาจจะมีปัญหาการซื้อเสียง หรือ บล็อคโหวตได้ นายมีชัย จึงชี้แจงว่า กรธ.พยายามหาทางขจัดปัญหาการทุจริตให้เหลือน้อยที่สุดแล้ว แต่หากสนช.ช่วยคิดเพิ่มเติมให้ดีกว่าที่มีอยู่ก็ถือว่า จะเป็นพระคุณอย่างใหญ่หลวง

จกานั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คนเพื่อพิจารณาต่อไป และกำหนดเวลาพิจารณาของกรรมาธิการให้เสร็จภายใน 58 วัน นับตั้งแต่วันรับหลักการวาระแรก