"นายวิษณุ เครืองาม" ยืนยัน คำสั่งคสช. ไม่ใช่การรีเซ็ตสมาชิกพรรค แต่เป็นการแก้ปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อน ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เพราะอาจมีความขัดแย้งกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
"นิพิฏฐ์"เตรียมยื่นศาล ชี้คำสั่งคสช.ขัดรัฐธรรมนูญ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. 53/2560 ที่อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ว่า คำสั่งของ คสช. อาจมีความขัดแย้งกับสิทธิของประชาชน ที่มีการรองรับในรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการประชามติ
แม้ว่ายื่นไปแล้วไม่ชนะก็ไม่เป็นไร แต่แค่ต้องการให้สังคมทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะให้อะไรอยู่เหนือกว่ากันระหว่างอำนาจ คสช. หรือสิทธิของประชาชนที่มีในรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านประชามติจากประชาชน
ทั้งนี้ถ้าผลออกมาว่า สิทธิของประชาชนเหนือกว่าแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าจะไม่มีใครกล้ายึดอำนาจอีกต่อจากนี้
ส่วนช่องทางจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่
"เรืองไกร" จ่อร้องขอศาล รธน.สั่งยกเลิกคำสั่ง คสช. 53/2560
เช่นเดียวกับ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า คำสั่ง คสช. 53/2560 ละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนเองในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย และไม่เปิดโอกาสให้ตนเองได้มีโอกาสใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น ดังนั้น การกระทำของหัวหน้า คสช.จึงอาจเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลให้คำสั่งดังกล่าวใช้บังคับมิได้ ดังนั้น การออกคำสั่งของ หัวหน้า คสช.จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โดยเตรียมจะไปยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เป็นการกระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนเองหรือไม่ และเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา 5 หรือไม่ โดยจะไปยื่นคำร้องด้วยตนเองในวันพุธที่ 27 ธันวาคมนี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยให้การกระทำของหัวหน้า คสช.สิ้นผลได้
"วิษณุ" ยืนยัน คำสั่งคสช. ไม่ใช่การรีเซ็ตสมาชิกพรรค
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่มีวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 เป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง และอาจส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งต้องขยับออกไป ว่า ไม่ใช่การรีเซ็ต ไม่ใช่การเซ็ตซีโร่ เพราะของเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขระบุเอาไว้ว่า พรรคต้องยืนยันเรื่องสมาชิก ที่ผ่านมาหลายคนเป็นสมาชิกหลายพรรค บางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นสมาชิก จึงต้องการให้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ โดยให้สมาชิกเป็นคนยืนยันมาที่พรรค แต่ถ้าไม่อยากยืนยัน ก็ให้อยู่เฉยๆ เมื่อพ้นเวลา 1 เดือน ก็จะพ้นจากสมาชิกไปเอง และยืนยันว่าไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่
นายวิษณุ ยังกล่าวว่า สิ่งที่พรรคการเมืองเป็น กังวลอยู่ในขณะนี้คือ การให้ยืนยันสมาชิกภายใน 30 วัน จะทำไม่ทัน แต่ในความเป็นจริงไม่มีปัญหา เพราะถ้าพ้นเวลา 30 วันไปแล้ว ยังสมัครสมาชิกใหม่ได้ สามารถยืดออกไปได้ตลอด จะขอขยายเป็นชาติก็ได้ ถ้าพรรคใดกลัวว่าสมาชิกจะเหลือน้อย ให้รีบติดต่อทำตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 61 ให้สอบถามสมาชิกของตัวเองไปโทรศัพท์ หรือทางออนไลน์ เพื่อให้วันที่ 1 เมษายน61 จะยื่นสมัครพร้อมกับเสียค่าสมาชิกได้ในทันที **ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งคสช.
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ทำได้ ไม่มีปัญหา ไม่ว่ากัน เป็นสิทธิ์ และถ้ายื่นจริงจะไม่ส่งผลให้การดำเนินการของ คสช. สะดุด เพราะกระบวนการยังเดินต่อไปได้