ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณี สภ.บ้านตาก ส่งขัง "ญิชา หญิงวัย 24 ปี" ถูกปลอมบัตรประชาชน เปิดบัญชี ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ด้านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้ "ณิชา" ต้องพิสูจน์ตัวเอง เป็นเหยื่อหรือร่วมขบวนการ หลังไม่มาพบตามหมายเรียกแต่แรก

พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้เกี่ยวข้องได้ ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดตาก เพื่อคลี่คลายคดี กรณี นางสาวณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชน ตกเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำบัตรประจำตัวประชาชน ไปเปิดบัญชีธนาคาร จนถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง

พลตำรวจเอก วิระชัย บอกว่า คดีนี้ มีขบวนการคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงิน นางกาสิณี ยะเมา ชาวจังหวัดตากไป 1 ล้าน 3 แสนบาท และ พบว่า เงินดังกล่าว เข้าบัญชีธนาคาร 3 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นบัญชีชื่อ นางสาวณิชา เมื่อผู้เสียหายรู้ว่า ถูกหลอก จึงมาแจ้งความดำเนินคดี ต่อมามีการตั้งข้อหากับ นางสาวญิชาดังกล่าว

เรื่องนี้ ผู้บังคับการจังหวัดตาก ได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมา เนื่องจาก นางสาวณิชา อยู่ในฐานะผู้ต้องหา และ ต้องขยายผลไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนการที่ นางสาวณิชา ถูกออกหมายจับ ตำรวจทำตามหน้าที่ เพราะผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก จากนี้จะต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่า เป็นเหยื่อในขบวนการคอลเซ็นเตอร์ หรือร่วมขบวนการกระทำความผิด

พลตำรวจเอก วิระชัย บอกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ยังเปิดบัญชีรับโอนเงินจากผู้เสียหายอีก 2 บัญชี มีการโอนเข้ามา รวมกว่า 1 ล้านบาท คือบัญชีของ นายขวัญ ทองน้อย สาขาบิ๊กซีติวานนท์ และ บัญชีชื่อ นายธีรภัทร์นนท์ งามวงษ์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน กำลังพิสูจน์ทราบ ว่า บุคคลทั้ง 2 อยู่ในภูมิลำเนาที่ใด และ อยู่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ หากไม่เกี่ยวข้อง ขอให้แสดงความบริสุทธิใจ โดยการไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่ พลตำตรวจตรี ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองปราบปราม บอกว่า ขณะนี้ได้ประสานขอกล้องวงจรปิดกับธนาคารทั้ง 7 แห่ง ที่พบว่าถูกเปิดบัญชีโดยชื่อของ นางสาวณิชา มาตรวจสอบ ว่าเป็นหญิงสาวคนเดียวกับที่ปรากฏในภาพของธนาคารแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าวหรือไม่

พร้อมฝากเตือนไปยังประชาชนเป็นอุทาหรณ์ว่า หากบัตรประชาชน หรือ เอกสารสำคัญหาย ให้รีบไปลงบันทึกประจำวัน ก่อนทำบัตรใหม่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานปกป้องตนเองหากเกิดกรณีเช่นนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสืบสวนของตำรวจ คาดว่าผู้หญิงในภาพ ไม่น่าจะไปเปิดบัญชีเอง 7 ธนาคาร 9 สาขาเพียงคนเดียว จึงต้องขอตรวจสอบกล้องวงจรโดยละเอียดทั้งภายในและภายนอกธนาคาร

ด้าน พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนฝากประชาชน ที่ทำบัตรประชาชนสูญหาย ให้รีบดำเนินการทำบัตรประชาชนใหม่ทันที เมื่อทำบัตรใหม่แล้ว บัตรเก่าจะถูกระงับการใช้งาน หากมีการทำธุรกรรมทางการเงิน ให้รีบไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันบัตรหายที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน และ ให้นำบันทึกประจำวันดังกล่าว ไปแจ้งกับธนาคาร เพื่อเป็นการป้องกันการถูกแอบอ้าง หรือ สวมสิทธิ์บัตรประชาชนอีกทางหนึ่ง

หากไม่มั่นใจ ว่า บัตรประชาชน ถูกกลุ่มมิจฉาชีพไปเปิดบัญชีหลอกลวงบุคคลอื่นหรือไม่ สามารถขอตรวจสอบข้อมูลได้ที่ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชน ผ่านโทรศัพท์ สายด่วน 1155 หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2251-9793 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สายด่วน 1710 ของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ขณะเดียวกัน พลตำรวจโท ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 บอกถึงกระแสสังคม ที่มองว่า ตำรวจทำงานรวดเร็วเกินไปหรือไม่ มีการสอบสวนนางสาวณิชา ก่อนส่งขังหรือไม่นั้น ยืนยันว่า พนักงานสอบสวน สภ.บ้านตาก ทำตามขั้นตอนระเบียบทุกอย่าง เรื่องนี้ตนเองจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พร้อมกันนี้ ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ชุดใหญ่ มีรองผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดตากเป็นประธาน สอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากตรวจสอบแล้ว พบว่า นางสาว ณิชาไม่กระทำผิดจริง ตำรวจก็จะถอนคดีนี้ได้ทันที

แนวทางการสอบสวน จะได้เรียกสอบพยานและหลักฐานให้มากที่สุด ต้องสืบสวนว่า การฝากเงินเข้าบัญชีที่เปิดนั้น ใครเป็นคนเบิกเงินออกไป คาดว่า คดีนี้จะกระจ่างโดยเร็วอย่างแน่นอน พร้อมฝากถึงประชาชนว่า หากได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ไม่ควรรอให้มีการออกหมายจับจึงมาแสดงตัว

ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรี ปริญญา วิศิษฐฎากุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก บอกว่า ตำรวจได้สอบสวนธนาคารที่เกี่ยวข้อง กับการเงินในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงธนาคารที่กรุงเทพมหานคร 3 แห่ง

การที่นางสาวณิชา กล่าวหาว่า พนักงานสอบสวน สภ.บ้านตาก เพิกเฉยต่อเอกสารที่มอบให้เป็นหลักฐานในการพิจารณาประกันตัวที่ศาลจังหวัดตาก ในการฝากขัง และญาติติดใจในการทำงานตำรวจ ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จนไม่ได้รับการประกันตัวออกมาในครั้งแรกนั้น

กรณีนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า พนักงานสอบสวนไม่มีความผิด เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ในการขออำนาจศาลฝากขัง ส่วนหลักฐานที่ นางสาวณิชา มอบให้ พนักงานสอบสวนได้รับไว้พิจารณา และ จะรวบรวมตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อประกอบสำนวนคดีในขั้นตอนต่อไป ทุกอย่างทำตามกรอบขอกฏหมาย

ทั้งนี้ มีรายงานจากแหล่งข่าวกระทรวงยุติธรรม กรณีนางสาวณิชานั้น กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือได้ เพราะผู้เสียหาย ไม่ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรม เพื่อรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เบื้องต้น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องเข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่ง ที่อนุญาตให้นำบัตรประชาชนของผู้อื่นไปเปิดบัญชีถึง 9 บัญชี เพราะเป็นหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยตรงของ ปปง. เป็นไปตามกฎหมายฟอกเงิน ที่สถาบันการเงิน ต้องตรวจสอบลูกค้าก่อนอนุญาตให้เปิดบัญชีให้ละเอียด

สำหรับบทกำหนดโทษ จากไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า มีโทษปรับบัญชีละ 1 ล้านบาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จ

ผบช.ภ6 สั่งตั้งกก.สอมปม ปลอมบัตร "ณิชา" เปิดบัญชี ยันให้ความเป็นธรรม