สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เตรียมเรียก 36 ธนาคาร ถกปัญหาป้องกันแก๊งคอลเซนเตอร์สวมบัตรประชาชนคนอื่นเปิดบัญชีภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ตำรวจเร่งตรวจสอบหาตัวคนร้าย หากพบว่า "ณิชา" วัย 24 ปี ไม่ผิด จะไม่ส่งฟ้องศาลต่อ

 

ตร. ชี้ หาก"ณิชา"ไม่ผิดไม่ส่งฟ้อง เร่งสอบ 9 บัญชีหาตัวคนร้าย

พลตำรวจตรี ปริญญา วิศิษฐฎากุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก เปิดเผยความคืบหน้าคดี นางสาว ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชน ถูกคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำบัตรประจำตัวประชาชน ไปเปิดบัญชีธนาคาร จนถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง ว่า ได้สั่งการให้ชุดคลี่คลายคดี แบ่งงานกัน 3 ชุด ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล

เพื่อไปขอความร่วมมือกับ ธนาคารทั้ง 7 แห่ง ที่มีชื่อของ นางสาวณิชา ไปเปิดบัญชีรวม 9 บัญชี เพื่อตรวจสอบภาพถ่าย วงจรปิดและลายเซ็น ที่ใช้ในการเปิดบัญชี ว่า เป็นลายเซ็นเดียวกับของ นางสาวณิชาหรือไม่

หากสามารถพิสูจน์ ได้ว่า นางสาว ณิชา ไม่ใช่บุคคลที่ไปเปิดบัญชีจริง พนักงานสอบสวนก็จะสั่งไม่ฟ้อง นางสาวณิชา ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ จังหวัดตาก มี นางการต์สินี ยะเมา เป็นผู้เสียหายเพียงรายเดียว ที่เข้ามาแจ้งความว่า ถูกคนร้ายล่อลวงให้โอนเงินเข้าบัญชีของ นางสาว ณิชา 

คาดว่า คดีนี้ จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการทำงานร่วมกันของ ตำรวจกองปราบปรามและ ตำรวจภูธรจังหวัดตาก

 

ผบก.ภ.6 ยัน "ณิชา" ยังมีสถานะผู้ต้องหา เร่งพิสูจน์ความจริง

ด้าน พลตำรวจโททวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 บอกว่า ได้สั่งให้ตรวจสอบบัญชีทั้ง 9 บัญชีแล้ว พบว่า ผู้เสียหาย โอนเงินกว่า 1 ล้านบาท เข้าบัญชีชื่อ นางสาวณิชา ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอให้พนักงานสอบสวนรายงานรายละเอียดของบัญชีดังกล่าว

เบื้องต้น ได้ตั้งพนักงานสอบสวน พิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ตอนนี้สถานะของ นางสาวณิชา ยังคงเป็นผู้ต้องหาอยู่ หากตรวจสอบ แล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็พร้อมที่จะสั่งไม่ฟ้อง

ส่วนบัญชี ที่มีการ โอนเงินผิดปกติอีก 2 บัญชี ชื่อนายขวัญ ทองน้อย กับ นายธีรภัทร์ นนท์ งามวงษ์ เชื่อว่าอยู่ที่จังหวัดตาก ได้ออกหมายเรียกมาสอบปากคำ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เมื่อสอบสวนเสร็จ และ ไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหา แต่เบื้องต้น ยังไม่ได้รับการประสานจากบุคคลทั้งสอง และตำรวจต้องไปสอบถามกับธนาคารด้วย ว่า บัญชีที่มีการโอนเงินผิดปกติ ใครเป็นคนมาเปิดบัญชี และใครเป็นผู้มากดเงิน จะได้รายละเอียดมากขึ้น หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ธนาคารต่อไป

สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ธนาคาร เปิดบัญชีโดยไม่ได้ตรวจสอบลักษณะบุคคลกับบัตรประจำตัวประชาชน เป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น ต้องดูระเบียบของธนาคารก่อนว่า กำหนดไว้อย่างไร

แต่ทั้งนี้ หากใครทำบัตรประชาชนสูญหาย ขอให้รีบแจ้งความกับตำรวจทันที เพราะจะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักพอ ที่จะนำมาประกอบสำนวนคดี ส่วนกรณีตำรวจในพื้นที่ ไม่รับแจ้งความบัตรหาย ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาของสถานีตำรวจนั้น แต่เชื่อว่า ทุกโรงพักจะดำเนินการให้

 

ปปง.เตรียมเรียก 36 แบงค์แก้ปัญหาสวมบัตรเปิดบัญชี

ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) บอกว่า ในวันที่ 15 มกราคมนี้ เวลา 14 นาฬิกา 30 นาที ปปง. จะเชิญตัวแทนสถาบันการเงิน 36 แห่ง มาร่วมประชุม เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ บัตรประจำตัวประชาชนผู้อื่น เพื่อเปิดบัญชีธนาคาร ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ สอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้น

สำหรับมาตรการตรวจสอบการแสดงตนของผู้เปิดบัญชี ได้กำหนดให้ทุกสถาบันการเงิน ต้องตรวจสอบรายละเอียดลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีทั้งชื่อนามสกุลจริง อาชีพ วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และ อีเมล หากสถาบันการเงินละเลย ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบคอบ กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับ บัญชีละ 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จ

 

อัยการ ตำหนิตร.สอบสวนไม่รอบคอบ ทำ"ณิชา" นอนคุก 2 คืน

ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด บอกถึงคดี นางสาวณิชา ว่า ต้องดูข้อเท็จจริงของการแจ้งความ ว่า แจ้งบัตรประจำตัวประชาชนหายเฉยๆ หรือ หายเพราะเกี่ยวพันกับคดีอาญา ถ้าเกี่ยวพันกับคดีอาญา เช่น ถูกวิ่งราวทรัพย์ ลักทรัพย์ ตำรวจต้องรับแจ้งและสอบสวน เมื่อมีสอบสวนแล้ว นำประเด็นนี้ไปโยงกับที่นางสาวณิชาถูกกล่าวหาหรือไม่

พร้อมบอกว่า เหตุการณ์นี้อย่าโทษใคร ให้มองที่งานสอบสวนว่า ครบถ้วนรอบคอบหรือไม่ ถ้าครบถ้วนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะออกหมายจับ คดีนี้จะได้ความแต่แรก

เพราะรู้เพียงว่า มีการกระทำผิด แต่ยังไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด แต่รู้ว่าบัญชีดังกล่าวเป็นชื่อนางสาวณิชา ไม่มีใครยืนยันได้ว่า เป็นบัญชีของตัวจริงหรือไม่

ตำรวจสามารถตามไปดูได้ว่า มีพฤติกรรมการหลบหนีหรือไม่ มีความพยายามเพียงพอหรือยัง ที่จะนำตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ครั้งนี้ ส่งหมายเรียก 2 ครั้ง เมื่อไม่มาออกหมายจับ ถือเป็นการทำลายเสรีภาพ นางสาวณิชา เพราะไม่รอบคอบ ทั้งที่นางสาวณิชา นำเอกสารต่าง ๆ ไปพบตำรวจ

นายปรเมศวร์ บอกต่อว่า การที่ นางสาวณิชา ถูกขังเป็นเวลา 3 วัน ได้รับการเยียวยาวันละไม่กี่ร้อยบาท ไม่คุ้มกับสิทธิร่างกายที่เสียไป เมื่อฟังตำรวจชั้นผู้ใหญ่ บอกว่า ปฏิบัติตามขั้นตอน อยากถามว่า ขั้นตอนอะไร ขั้นตอนที่ไม่ใช้ดุลพินิจหรือไม่ ส่งหมายเรียกผิดก็มี หากกรณี นางสาวณิชา ไม่เป็นข่าว เรื่องก็คงยาวต่อไป

เรื่องแบบนี้ถึงมีประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปการสอบสวน ทั้งที่ระบบมันดี แต่คนทำไม่ครบ เอาแต่สะดวก ถ้าสอบสวนรอบคอบ แล้วพบว่า ไม่ได้กระทำผิด ตำรวจจะฝากขังนางสาวณิชาต่อหรือไม่ เรื่องนี้พนักงานสอบสวนเป็นคนก่อ ก็ควรที่จะต้องแก้เอง

ปปง.เตรียมเรียก 36 แบงค์แก้ปัญหาสวมบัตรเปิดบัญชี - ตร. ชี้ หาก"ณิชา"ไม่ผิดไม่ส่งฟ้อง